อัตชีวประวัติ

นิตยา คชภักดี

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง

ประวัติโดยย่อ

1. สังคมไทยในช่วงที่เกิด

รองศาตราจารย์ แพทย์หญิงนิตยา คชภักดี สกุลเดิม จิราธิยุต เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ 29 ธันวาคม 2490 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ทางจันทรคติ ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นช่วงที่ นายกรัฐมนตรีของไทย คือ พันตรีควง อภัยวงศ์ และในปีที่อาจารย์เกิดนั้น ตรงกับปีที่มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย

ตราไปรษณียากร พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ผลิตเมื่อ พ.ศ.2490

2. สกุลจิราธิยุต

ครอบครัว “จิราธิยุต” เป็นครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในอำเภอเตี่ยอัง เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และต่อมาได้เข้ามา พึ่งพระบรมโพธิสมภารในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

โดยแรกเริ่ม คุณแม่ของอาจารย์นิตยา คือ คุณแม่สุเมธ แซ่กวย ได้เข้ามาเมืองไทย ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ พร้อมกับคุณยายฮ่องเจ็ง โดยพักอาศัยอยู่ในบ้านของท่านพระยานนทบุรีศรีเกษตราราม (เล็ก บูรณฤกษ์) และในเวลาต่อมาคุณแม่ ได้ทำงานที่สำนักงานของธนาคารแห่งประเทศจีน

ส่วนคุณพ่อเก่งเอี้ยง แซ่จึง นั้น เข้ามาเมืองไทย ตั้งแต่ช่วงอายุ 16 ปี และเนื่องจากเรียนจบ จากโรงเรียนฝึกหัดครู “หั่งซือ” เมืองแต้จิ๋ว ท่านจึงมาทำงานเป็น ครูสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียนจีน และทำงานที่สำนักงานผลิตหนังสือพิมพ์จีนอีกหลายแห่ง พร้อมกับได้พบกับคุณแม่สุเมธและบังเกิด เป็นความรัก จากนั้นทั้งสองจึงได้ตกลงแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว “จิราธิยุต” ร่วมกัน ในที่สุดนั้นเอง

คุณพ่อเก่งเอี้ยง แซ่จึง และ คุณแม่สุเมธ แซ่กวย

3. ชีวิตวัยเยาว์

คุณพ่อและคุณแม่ของ
อาจารย์นิตยา

ดิฉันเกิดมาเป็นลูกคนโตของคุณพ่อเก่งเอี้ยง แซ่จึง (ภาษาจีนแต้จิ๋วจะเรียกว่า จึงเก่งเอี้ยง) และคุณแม่
สุเมธ (หรือจำปา) แซ่กวย ทั้งสองท่านอพยพมาจากเมืองจีนเมื่ออายุ 16 ปีและอายุ 5 ปีตามลำดับ มาพบกันที่โรงเรียนอาตัง โดยป่าป๊าเป็นครูพละ หม่าม้าเป็นนักเรียนมัธยม และต่อมาเป็นครูสอนภาษาไทย แล้วมาแต่งงานหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ท่านทั้งสองเล่าให้ฟัง และชี้ชวนให้ลูกๆ ดูรูปภาพที่ท่านเข้าพิธีสมรสที่สมาคมจีนใกล้โรงเรียนเผยอิง พร้อมกับคู่สมรสอีกนับสิบ โดยมีท่านเอกอัคราชทูตจีนเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2490 (ทำให้ครอบครัวของเราฉลองวันครบรอบแต่งงานของป่าป๊า หม่าม้า พร้อมกับปีใหม่เสมอมาตั้งแต่จำความได้ จนป่าป๊าจากไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2548) ท่านทั้งสองพร้อมกับคุณยาย คุณน้าน้อยและคุณน้าเล็กมาอยู่ที่บ้านซอยพระยาพิพัฒน์ ตอนนั้นท่านทั้งสองทำงานสำนักงานสื่อข่าวจีน ที่ตึกไทยนิยมผ่านฟ้า ที่ต้องขึ้นบันไดเกือบร้อยขั้น วันละสองรอบ


คุณพ่อเก่งเอี้ยง แซ่จึง และคุณแม่สุเมธ (จำปา) แซ่กวย
ในวันแต่งงาน 1 มกราคม 2490

เหตุการณ์วันที่อาจารย์เกิด

ระหว่าง ดิฉันเป็นทารกอยู่ในครรภ์ แล้วดิฉันก็เกิดมาปลายปีนั้น 29 ธันวาคม 2490 ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยสูติแพทย์ คือ คุณหลวงพรหมทัตเวที (คุณพ่อของอาจารย์นายแพทย์วัชรี ซึ่งเป็นอาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งดิฉันมาเรียนด้วยตอนหลัง) คุณยายเล่าว่าปีนั้นหนาวมาก ต้องเอาเตาถ่านไปติดไฟต้มน้ำหน้าห้องพัก หม่าม้าเล่าว่า ตอนดิฉันเกิดเป็นเวลากลางคืนไฟฟ้าดับ ทำให้คลอดรกไม่หมด มีอาการตกเลือดต้องขูดมดลูกภายหลัง ทำให้ช่วงแรกไม่ค่อยมีน้ำนม ดิฉันเกิดมามีน้ำหนักแรกคลอด 2,700 กรัม เท่านั้นเอง ตัวนิดเดียว แต่ร้องดังดีและก็ดูดนมแม่เก่ง

ศาสตราจารย์ หลวงพรหมทัตเวที
คณบดีท่านที่สอง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สูติแพทย์ผู้ทำคลอดอาจารย์นิตยา

การเลี้ยงดูอาจารย์นิตยา
ในช่วงแรกเกิด

หม่าม้าลาออกจากงานมาเลี้ยงดิฉัน แล้วต่อมาจึงไปทำงานฝ่ายบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศจีน เมื่อดิฉันอายุประมาณ 1 ปี ครอบครัวของเราย้ายมาอยู่ที่บ้านสุริวงศ์ ซอยหลังโรงแรมทรอคาเดโร และทะลุออกตรอกยายโต๊ะไปหัวถนนสีลม และเดินไปตลาดบางรักได้ หลังบ้านติดกับสวนผลไม้และมีคลองเล็กๆ ดิฉันเป็นเด็กคนเดียวในบ้าน จนถึงอายุ 4 ปี ในครอบครัวที่มีผู้ใหญ่ใจดีคอยดูแลถึง 5 คน และมีหลานชายหญิงวัยรุ่นของหม่าม้าอีก 2 คน สัดส่วนผู้ดูแลเด็ก ถึง 7 ต่อ 1 เพลงกล่อมนอน มีตั้งแต่เพลงละครยุค จันทร์เจ้าขา เพลงสุนทราภรณ์ เพลงจีนสากล เพลงแต้จิ๋วของคุณยาย เพลงสากลจากคุณน้า จนถึงเพลง Classic ที่จำแม่น คือ Lullaby ของ Brahms ที่ฟังแล้วหลับสบายทุกที
เชิญฟัง เพลง Lullaby ของ Brahms / เพลงจันทร์เจ้าขา สุนทรภรณ์

 

คุณแม่สุเมธ อุ้มเด็กหญิงนิตยา จิราธิยุต

เริ่มชีวิตวัยอนุบาล

ช่วงไปโรงเรียนอนุบาลเสริมมิตร ดิฉันมีอายุราว 3 ปี ยังต้องให้คุณน้าเล็กที่สอนอยู่ที่นั่น อุ้มไปโรงเรียนเป็นประจำ มีคุณครูใหญ่ชื่ออั้งซินแซ ก่อนที่ท่านจะย้ายไปตั้งอนุบาลวัฒนวัย ปัจจุบันท่านอายุ 90 กว่าแล้ว ยังแข็งแรงมาร่วมงานของครอบครัว เช่น งานวันเกิดหม่าม้า 84 ปี เมื่อกันยายนที่ผ่านมา และท่านยังคิดถึงเด็กๆบ้านเราเสมอ และชวนไปทานเลี้ยงวันเกิดท่านทุกปี ปรากฎว่า พี่สุรางค์ กับ พี่ระวิพรรณ แพทย์รามา รุ่น 1 ก็เป็นลูกศิษย์อั้งซินแซเหมือนกัน พอดิฉันมาเรียนด้านพัฒนาการเด็กจึงเข้าใจว่า คุณครูอนุบาลของดิฉัน และน้องชายทั้งหมดสอนแบบบูรณาการ ให้เด็กเรียนรู้แบบ active learning ประยุกต์แนว Montessori และเน้นการให้เด็กมีการร้องรำทำเพลง มีส่วนร่วมแสดงออกมาทุกคน แสดงว่าท่านทันและล้ำสมัยมากๆ น้องชายคนโตที่ห่างจากดิฉัน 4 ปี ชื่อวิสุทธิ์ เคยเป็นพิธีกรบนเวทีโรงเรียนอนุบาล และไปออกอากาศทางวิทยุตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ภายหลังจึงทราบว่า ท่านเรียนด้านอนุบาลศึกษา จากเซี่ยงไฮ้ ช่วงปฐมวัยดิฉันจำรายละเอียดไม่ค่อยได้ รู้แต่ว่ามีความสุขมาก ได้รับความรักเอาใจใส่ พูดคุยเล่านิทาน พาไปเที่ยว (ดูจากรูปภาพและผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง) ที่จำแม่นๆ คือเคยตกบันไดวนๆ ที่ รร.อนุบาลเสริมมิตร ช่วงตื่นนอนตอนบ่าย แล้วหาคุณน้าไม่พบ จำไม่ได้ว่าเจ็บมากน้อยเพียงใด จำได้แต่ว่า ครูเกือบทั้งโรงเรียนวิ่งมาช่วยปลอบ ให้ขนมกิน ชวนเล่นจนเลิกร้องไห้ (ตอนโตขึ้นมาจะไม่ชอบขึ้นบันใดที่มีลักษณะวน ที่ลูกบันไดเล็กข้างใหญ่ข้าง หากจำเป็นต้องขึ้นจะเกาะราวทุกที หรือ เดินขึ้นทางด้านกว้างที่สุดเสมอ)


นักเรียนโรงเรียนอนุบาลเสริมมิตร

 

ชีวิตและครอบครัว
หลังจากอาจารย์เกิด

ระหว่างอายุ 4 ถึง 10 ปี ดิฉันมีน้องชายเกิดตามมาถึง 4 คน คือ วิสุทธิ์ (อุ้ย) วิชัย (ชั้ย) วิรัช(เพ้ง) และวิชิต(ตี้) สมใจคุณยาย ที่มีแต่ลูกสาว 3 คน และมามีหลานสาว อีกหนึ่งคือดิฉัน ท่านจึงไปไหว้พระไหว้เจ้าขอให้มีหลานชายคราวนี้มากัน จนคุณยายต้องหาคนช่วยเลี้ยง เพราะคุณน้าน้อยแต่งงานกับคุณน้าอูปอ แล้วก็มีลูกชาย ต่อกัน 3 คน เลย คือ วิวัฒน์ (เต็ก) วิโรจน์ (ซิง) และพงษ์ศักดิ์ (มิ้ง) ซึ่งน่าแปลกที่ทั้ง 3 คู่ จะเกิดไล่เรียงกัน ห่างประมาณ 3 – 4 เดือน โดยน้องชายลูกคุณน้าน้อยจะเกิดก่อนน้องชายดิฉัน เราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่บ้านสุริวงษ์ มีดิฉันเป็นหลานสาวคนเดียว และเป็นพี่ใหญ่ของน้องชายอีก 4 + 3 ก็คงไม่ยากที่จะวาดภาพว่าจะชื่นชุลมุนกันอย่างไร ดิฉันอยู่ในท่ามกลางผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือกัน อาทรห่วงใย เอาใจใส่ (จริงๆจังๆ แบบเป็นรูปธรรม) แบ่งปันทั้งเวลาทรัพยากรและแรงงาน เช่น ผลัดกันดูแลลูกหลาน เวลาอีกฝ่ายไม่สบาย ไปคลอดลูกหรือแม้แต่ไปดูหนัง น้าอูปอค้าขายได้ดี จะมี “ของเล่น” ใหม่ๆมาแบ่งปัน โดยเฉพาะพวกเครื่องเสียง เครื่องไฟฟ้า เช่น แกรมมาโฟน เครื่องเล่นแผ่นเสียงกับแผ่นเสียง มีรูปสุนัขนั่งหน้าลำโพง เปิดฟังเพลงกันสนุกๆ ใครเห็นขนมหรืออาหารอร่อยก็ซื้อมาฝากกัน เราจะรู้กันดีว่า ใครชอบหรือไม่ชอบอะไร ทุกคน “เอาใจ” และ “เกรงใจ” ซึ่งกันและกัน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ บางทีเด็กๆก็มีเถียงกัน แย่งของกัน แข่งกีฬาอยู่คนละสี แข่งกันเรียนเพราะอยู่ชั้นเดียวกันเป็นคู่ๆ ยกเว้น ดิฉันกับวิสุทธิ์ ที่ไม่มีคู่กับน้องบ้านคุณน้าน้อย แต่เรามักจะตกลงกันได้ โดยไม่มีความรุนแรง หรือความบาดหมางใจต่อกัน (เรียกว่า มี Buffer หรือ absorber ที่มีประสิทธิภาพในการทำ Conflict resolution และมีช่วงดีๆ กัน ที่ทำให้แต่ละคนไม่อยากแยกตัวออกไปนาน พอ”หายยั๊วะ”ก็จะ “หยวน” ยอมยืดหยุ่นไม่ต้องเอาชนะคะคานกันจนเกินไป)


ครอบครัวจิราธิยุตในช่วงวัยเด็กของอาจารย์นิตยา

อาม่าของอาจารย์นิตยา

เรามีคุณยาย(อาม่า) เป็นศูนย์กลางความเคารพรัก ท่านใจดี มีความยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นใครทำอะไรดี จะได้คำชมการกอด ลูบหัว ใครทำไม่ถูกจะถูกดุและสอนให้ทำใหม่ให้ดี ใครเสียใจร้องไห้หรือมีความทุกข์จะได้รับการปลอบโยน และชวนไปทำอะไร กินอะไร หรือให้อีกคนสองคนไปช่วยดูแล คุณยายเป็นผู้หญิงจีนที่อ่านหนังสือออกไม่ถูกมัดเท้า เพราะมาจากครอบครัวขุนนางที่ทันสมัย คุณยายมีศรัทธาแก่กล้าในพุทธศาสนา ท่านพาลูกหลานสวดมนตร์ไหว้พระไหว้เจ้า กินเจ ขอพรให้พระช่วยคุ้มครองทุกคน ดิฉันคิดว่าลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบนี้ทำให้คนเรารู้สึกว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเรามีพลัง มีคนที่ไว้ใจได้ จริงใจ และรักเรา และเรามีหวังจะแก้ไขปัญหาได้”

คุณยายฮ่องเจ็ง

ชีวิตในบ้านสุริวงค์

ที่บ้านสุริวงษ์พวกเรามีกิจกรรมในบ้านที่สนุกๆทำกันตลอดทั้งปีเกือบทุกสุดสัปดาห์ มีรายการพากันไปดูหนัง ไปกินข้าวแบบปิคนิค ที่สวนลุมพินี ไปงานเกษตรแฟร์ ไปสวนสัตว์ไปดูละครสัตว์ ฯลฯ วันตรุษจีน สารทจีน ไหว้พระจันทร์ ทำขนมอี๋ (บัวลอย) ที่สำคัญเกือบทุกเดือนจะต้องมีวันเกิดใครสักคน ก็จะมีการทำการ์ด ทำของกินเล่นหรือให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ร้องรำทำเพลงกันข้อดีก็คือ รู้จัก รู้ใจ และทำกิจกรรมร่วมกัน มีความผูกพันที่เหนียวแน่นยั่งยืน ข้อเสียหรือสิ่งที่เราต้อง “จ่าย”คือ “เวลา” “ความเป็นส่วนตัว” และ “ความคาดหมายไม่ได้” เช่นคนหนึ่งอาจตั้งใจจะใช้เวลาช่วงนั้นทำงาน อ่านหนังสือหรือมีนัดกับเพื่อน แต่มี “เหตุ” ที่ต้องดูแลคนในครอบครัวก่อน จึงอาจผิดนัดหรือไม่ได้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ ซึ่งสำหรับยุคนี้หรือในวัยที่มีสังคมของตนเองนอกครอบครัวมากกว่าแต่ก่อน จะต้องปรับให้เกิดความสมดุลย์ และยืดหยุ่นมากกว่ายุคก่อน เพราะ “เวลา” เป็นทรัพยากรที่มีค่า และมีจำกัด ในขณะนี้ที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นกับการเดินทาง กับการทำงานโดยเฉพาะ Computer อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์และการทำกิจกรรมร่วมกัน ก็คือ การดูโทรทัศน์ การใช้โทรศัพท์ทีละนานๆ การเล่นเกมส์อย่างไม่มีขอบเขต ครอบครัวจึงน่าจะช่วยการวางแผน แบ่งเวลาให้แต่ละคนมีเวลาอิสระส่วนตัวบ้าง และมีเวลาที่แน่นอนกันไว้สำหรับพบปะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกันในครอบครัว เพิ่มสัมพันธ์ที่ดีอย่างสม่ำเสมอ

ภาพถ่ายครอบครัวจิราธิยุต ณ บ้านสุริวงศ์

วัยเรียน วัยรุ่น
ทศวรรษที่ 2 ( 2511 - 2520)

มาแมร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซพคอนแวนกับหม่าม้ามีข้อตกลงกันว่าให้โอกาส ดิฉันทดลองเรียนดูสักหน่อยดูว่า จะ “ไหว” ไหม โชคดีที่ดิฉันมีหม่าม๊าที่มีวิสัยทัศน์ วางแผนและดำเนินการแบบมุ่งเป้าชัดเจน ส่งลูกไปเรียนพิเศษ ภาษาอังกฤษที่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนยุหมินฯ กล้าที่จะใช้เหตุผลมาขอมาแมร์ให้โอกาสลูก ให้มี “evidence based” ก่อนที่จะลดชั้นให้ไปเรียน ป2, ป3 ใหม่ อันเนื่องมาจาก หนูเขาเรียนจบมาจากโรงเรียนจีน แล้วด้วยคะแนนในใบสุทธิ ป. 4 ก็ไม่สู้จะดีเพราะได้เพียง 73% เท่านั้น (ก็หนูป่วยหนักจับไข้ไทฟอยด์จนผมร่วงแล้ว ถอดสายน้ำเกลือออกมาสอบนะคะ) มองย้อนหลังไปดิฉันเห็นใจ และเข้าใจครูมากขึ้นที่ไม่อยากให้เด็กที่ยังขาดทักษะ “ไม่พร้อม” มาถูกกดดันให้เครียด และอาจเบื่อการเรียน น่าจะให้ทำในสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ก่อน จะได้ปรับตัวได้สบายหน่อย ดิฉันขอบคุณมาแมร์และคุณครูที่ใจกว้าง มองเห็นเหตุผลที่หม่าม้าเรียนให้ทราบ

ดิฉันรู้สึกขอบคุณ และประทับใจเพื่อนชั้น ม. 1 ง ที่ชื่อเพ็ญศรี (น้อย) ผิวสองสี ถักผมเปีย ท่าทางทะมัดทะแมง ที่ช่วยเหลือเด็กใหม่เด๋อด๋าคนนี้ ด้วยน้ำใจที่งดงาม ชวนไปกินข้าว พาไปดูว่าห้องน้ำ ห้องสมุดอยู่ตรงไหน เดินบาแตงขัดพื้นทำอย่างไร เธอผู้นี้เป็น “Buddy” ที่น่ารัก และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ดิฉันมีชีวิตรอด ในดินแดนต่างวัฒนธรรมจากโรงเรียนยุหมินฯ หม่าม้า สนับสนุนด้วยการให้เรียนพิเศษกับคุณครู ตอนหลังเลิกเรียน รับส่งอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วให้ดิฉันไปกลับรถรางจากหัวถนนสีลม มาโรงเรียนที่ถนนคอนแวนต์ ดิฉันก็ยังหลงทางกลับบ้านไม่ถูกจนได้ ตอนนั้น ตี๋ (น้องชายคนที่ 4) เพิ่งอายุขวบเดียว และหม่าม้าทำงานธนาคาร และสอนหนังสือพิเศษด้วยเพื่อหารายได้เพิ่มมาส่งลูกไปโรงเรียนดีๆ และค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับรายได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ป่าป๊าทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณาของหนังสือพิมพ์จีนยอดนิยมในช่วงนั้นคือ ชินเสียนเยอะเป้า มีรายได้สม่ำเสมอพอสมควร แต่ต้องแบ่งส่วนหนึ่งส่งไปเมืองจีนให้คุณย่า และพี่น้องทางโน้น ทั้งป่าป๊ามีคนรู้จักมาก เป็นคนใจดี เห็นอกเห็นใจ เวลาใครมีความลำบากก็มักช่วยไปก่อน จึงเป็นผู้ให้ “ภาษีสังคม” อย่างสม่ำเสมอโดยหลายครั้งก็ไม่ได้เป็นเงินตราคืนมาสู่ครอบครัวเท่าที่ควร แต่ป่าป๊าจะรวยเพื่อนมีเครือข่าย รวยข่าวสาร มีโอกาสพบผู้คน และได้รับสินค้าตัวอย่างแบบใหม่ๆ พวกเราจึงเห็นแบบอย่างของผู้สนใจข่าวสารบ้านเมืองทั้งในเมืองไทย เมืองจีน และโลกกว้าง ป่าป๊าจะได้รับเชิญไปในงานต่างๆและการแสดงต่างๆมากมายทั้งปี ลูกที่โตพอพาออกแขกได้อย่างดิฉัน และต่อมาก็คือวิสุทธิ์ (ที่เป็นมือปืนคุ้มครองพี่สาว) จึงมีโอกาสติดตามป่าป๊าไปด้วย เช่น การถ่ายทอดออกอากาศ TV ในห้องส่งยุคแรกๆ งานรัฐธรรมนูญ งานนิทรรศการ

ติดตามคุณพ่อไปงานสังคมต่างๆ

ต่อมาหม่าม้ากับป่าป๊าจึงตัดสินใจมาเปิดร้านขายเครื่องเขียน ตั้งชื่อ ร้าน ส.สีลมสโตร์ ตรงข้ามสถานทูต กับบริษัทเสริมสุข (Pepsi) ที่เดี๋ยวนี้เป็นสีลม plaza พวกเราต้องปรับตัวกันยกใหญ่ จากครอบครัวขยาย มาเป็นครอบครัวเดี่ยว หม่าม้ากำลังตั้งครรภ์ที่ 6 คือน้องคนเล็กสุด (วิชาติ) วันเปิดร้าน ดิฉันอยู่ชั้น ม.1 เทอม 2 สบายใจขึ้นหน่อย ตอนนั้นบ้านใกล้โรงเรียน และดิฉันสอบได้ผลเป็นที่ 1 ของชั้นจึงไม่ต้องถูกลดชั้น แต่การที่ร้านอยู่ริมคลองข้างถนน ไม่มีบริเวณ และมีรถเสียงดังทั้งวันและคืน ที่สำคัญ คือไม่ได้อยู่กับคุณยาย คุณน้า และน้องๆ บ้านคุณน้าน้อย ที่ตอนนั้นยังอยู่บ้านสุริวงษ์ ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ร้านคุณน้าอูปอข้างวัดไตรมิตร ส่วนคุณน้าเล็กก็แต่งงานกับคุณน้าประสิทธิ์ แล้วก็พาคุณยายย้ายไปอยู่บ้านแถวเย็นอากาศ ก่อนจะไปอยู่ที่บ้านซอยเสนานิคม ตอนนั้นเป็นช่วงที่ดิฉันเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา พญาไทแล้ว


ร้านสีลมสโตร์ (ป้ายเครื่องเขียน)

ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ ดิฉันค่อยๆปรับตัวเรียนตามได้ทันกับ Class work book I ของ ม.1 และเริ่มรู้จักขนบธรรมเนียม ข้อบังคับ กับวิถีชีวิตของชาวเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ที่มีมาแมร์ มาเซอร์ คุณครูเฉพาะวิชา และนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ม.8 ร่วมพันคน ส่วนใหญ่มีฐานะดี และมีความหลากหลายแตกต่างจากเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนยุหมินกงสวย มีตั้งแต่ คนเก่งอังกฤษ ฝรั่งเศส บัลเล่ต์ เปียนโน งานศิลป การฝีมือปักแบบ cut work ถักแท็ต ทำSmock ถักไหมพรม ด้านคหกรรม อาจารย์ให้หัดแบ่งงาน วางแผนทำอาหาร ตั้งแต่ไปจ่ายตลาด ปรุงอาหาร ทำขนม แกะสลักผักผลไม้ จัดโต๊ะพับผ้าเช็ดปาก จัดดอกไม้ เสริฟอาหาร เป็นแคชเชียร์ และทำบัญชี นับเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ หลายครั้งดิฉันนำสูตรกลับไปลองทำให้ครอบครัวชิมอาหาร และขนมแปลกๆใหม่ๆ

นักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์

ช่วง มศ. 2 และ มศ. 3 มีคุณครูยุวดีเพิ่งกลับจากอังกฤษมาสอนให้นักเรียนร้องเพลงเสียงประสาน ต้องมาซ้อมกันบ่อยๆ ทั้งเพลงโรงเรียน เพลงโบสถ์ เพลง Christmas ต่างๆ ดิฉันจำได้ดีว่ายืนข้าง มรว.กัลยา จิตรพงศ์ ติงศะภัทย์ ซึ่งต่อมาเป็นอาจารย์ด้านอักษรศาสตร์ และเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดิฉันเล่น Net ball, Basketball กับสุภาณี ตัณฑ์ไพโรจน์ ต่อมาเป็นอาจารย์ คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล คนเก่งที่สุดในชั้นคือสมศรี ยังมีกลุ่มที่สนิทกันคือ รัตนวรรณ อุ่นใจ และสุมาลี ดิฉันชอบวิชาวาดเขียน ชอบวาดรูปผู้หญิง แล้วทำเสื้อผ้าชุดต่างๆ บนกระดาษ จนครั้งหนึ่งเพื่อนคุณแม่มาเห็นและแนะนำว่าท่านจะไปทำงานที่ Paris น่าส่งหนูนิตย์ไปเรียนออกแบบ Fashion !! เมื่อคุณครูศิลปะให้วาดรูปสีน้ำ ดิฉันกำลังติดใจนิยายเรื่อง Telma ที่นางเอกเป็นสาวชาวนอร์เวย์ จึงวาดภาพวิวมีภูเขาที่มีหิมะปกคลุมสะท้อนแสงจันทร์ มีลำธาร และกระท่อมเล็กๆในป่าสน มันเป็นภาพที่ดิฉันรักมาก และได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงในงานโรงเรียน ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ถูกใจ และใส่กรอบไม้ให้ (ทีหลังภาพนี้พร้อมกรอบ ก็กลายเป็นของขวัญชิ้นแรกที่ดิฉันมอบให้นัยพินิจ ตอนที่เราเริ่มรักกันช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 3)

หม่าม๊าได้ส่งดิฉันไปเรียนเปียนโน กับคุณครูลี นำเคี้ยว ที่เคยเป็นครูอนุบาลของดิฉันแล้ว หม่าม๊าก็ตัดสินใจซื้อเปียนโน ซึ่งนำเข้ามาจากอังกฤษให้ลูกสาวฝึกซ้อมที่ชั้น 2 ของร้าน ส.สีลมสโตร์ ทุกคนก็เลยได้ทดลองหัดเล่น ป่าป๊า หม่าม๊าก็เล่นเพลงเก่าๆ เช่น กล้วยไม้ เลือดสุพรรณ Home sweet home เพลงจีน หม่าม๊าชอบเพลง Come Back to Sorrento และ Serenade (Dream and memory) เป็นพิเศษ ลูกๆช่วยดูแลกัน และช่วยขายของหน้าร้าน ดิฉันได้หัดผูกโบว์ 3M แบบต่างๆ ที่ฟูๆสวยๆจนคล่อง และได้ช่วยห่อของขวัญปีละประมาณ 200 กล่อง ป่าป๊า หม่าม๊า จัดให้พวกเรามีกิจกรรมสนุกๆเกือบทุกเย็นวันเสาร์ มีขนม มีการเล่นดนตรี ร้องเพลง เล่าเรื่องต่างๆสู่กันฟัง ใครมีเกมส์ใหม่ๆจากโรงเรียน ก็มาหัดให้พี่น้องเล่นกัน ผลัดกันเล่านิทาน/เรื่องตลก บอกกันว่าชอบ และไม่ชอบอะไรที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน และที่บ้าน ช่วยกันหาทางปรับปรุงช่วยเหลือกันปรับความเข้าใจกัน เด็กๆในครอบครัวของเราจึงรักกันสนิทสนมกันมาก แม้บางครั้ง ดิฉันในฐานะพี่ใหญ่ตัวแทนหม่าม๊า ป่าป๊า ก็ต้องจัดการหย่าศึก คลี่คลายข้อขัดแย้ง และสอนการบ้านน้องชายทั้ง 5 บ้าง พวกเราลูกๆทั้ง 6 คนมีแรงจูงใจให้ตั้งใจเรียน และเห็นตัวอย่างความมุมานะ “เรียนรู้ตลอดชีวิต” ของหม่าม้าที่เรียนภาษาอังกฤษที่ AUA ตั้งแต่ 6 โมงเช้า สัปดาห์ละ 2-3 วัน และทำให้ได้ส่งเครื่องเขียนให้กับ American Women ‘s Club ป่าป๊าจะสนใจข่าวสาร และความรู้รอบตัว ท่านมักตัดข่าวและบทความดีๆ รูปสำคัญต่างๆมาเก็บไว้ดู และนำมาพูดคุย ถามลูกๆให้หัด “มองต่างมุม” และเปิดหูเปิดตาด้วยการติดตามสารคดี และหนังสือภาพจากประเทศต่างๆ 

คุณพ่อคุณแม่ทุ่มเทแรงกายใจเพื่อลูกๆ ประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่ายของตัวเองแต่ดูแลการกินการอยู่ การเรียนของลูกอย่างดีที่สุด ในช่วงที่เรียนชั้น ม.1 ถึง มศ. 3 เทียบเป็น ป. 5 ถึง ม. 4 ในยุคนี้ ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ดิฉันได้เรียนจากคุณครูอาจารย์ และมาเซอร์ที่เอาใจใส่ ตั้งใจสอนให้ลูกศิษย์เรียนรู้ ขยัน อดทนและให้ความรักปรารถนาดี ต้องการเตรียมให้พวกเราเป็นสุภาพสตรีที่อ่อนโยนและเข้มแข็ง ทันคนทันโลก มีศรัทธาในการทำความดีและเสียสละ เพื่อนที่เป็นคาทอลิคจะไปเรียนคำสอนในขณะที่นักเรียนที่เหลือเรียนวิชา Moral ที่มีลักษณะเป็น case study ตามด้วยการอภิปราย จบด้วย การสรุป thoughts to think และ things to do ซึ่งกล่อมเกลาให้พวกเราหัดพินิจพิเคราะห์ หาเหตุผลและแนวทางปฏิบัติที่ชอบที่ควร แถมเป็นการเรียนภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว 

ดิฉันโชคดีที่ได้เรียนภาษาไทยกับอาจารย์วิมล “ทมยันตี” จำได้ว่าพวกเราจะคอยถามอาจารย์ว่า ตอนต่อไปของ “ในฝัน” กับ “ร่มฉัตร” เป็นอย่างไร อีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์รจนา ซึ่งงดงาม อ่อนหวานมากตอนนั้นมาเป็นอาจารย์ฝึกสอน (ต่อมาท่านได้ริเริ่มงานฝึกพูดหรืออรรถบำบัด และหลักสูตรบัณฑิตศึกษาปริญญาโททางอรรถบำบัด ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ดิฉันได้พบพี่พิมพ์ประไพรุ่นพี่ 3 รุ่น ซึ่งมารับหน้าที่แต่งตัวเป็น Santa Claus เสมอๆ และพบน้องพิสมัย(อ้วน) ที่เรียนอยู่ชั้นที่อ่อนกว่าดิฉัน 1 ปี บางทีมีการจัดกิจกรรมแข่งกีฬา ร้องเพลงประสานเสียง และการแสดงด้วยกัน แต่ไม่ได้สนิทกันนัก (ใครจะไปรู้ว่าเธอทั้งสองเป็นพี่สาว และน้องสาวแท้ๆของ นัยพินิจ ผู้ต่อมาได้มาพบกันในโรงเรียนแพทย์ สนิทกัน จนรักกันและแต่งงานกันนับได้ถึงตอนมานี้ก็ 33 ปีกว่าแล้ว)

ในช่วงชีวิตตอนนี้ ดิฉันมีหลักในการดำเนินชีวิตที่นำมาใช้ได้ผลดีมาถึงทุกวันนี้ หลักแรกได้จากคุณแม่ เมื่อดิฉันไปเล่าว่ามีคนแกล้ง เอาเปรียบ หรือใส่ความแล้วดิฉันโกรธเสียใจมาก ร้องไห้ อยากจะต่อว่าเขา ไม่อยากไปโรงเรียน หม่าม้าจะเตือนสติว่าลูกไม่ชอบที่เขาทำกับลูกใช่ไหม แล้วทำไมลูกถึงจะไปทำตัวเหมือนเขาล่ะ ลูกควรจะอดทน อดกลั้น ตั้งใจทำดี พูดดีมากที่สุด เผื่อว่าอีกฝ่ายจะได้รู้ตัว และได้เห็นแบบอย่างของคนที่มีความคิดเป็นคนดีเขาเป็นกันได้อย่างไร นี้เป็นคุณสมบัติของ “ผู้ดี” ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่ใช่เป็นคนแหยแฝ่น ยอมแพ้เขา ไม่ใช่เกิดอาการ “สติแตก” ที่ต้องการ “เอาคืน” อย่างหยาบคาย ก้าวร้าว แบบเขาไปได้ โดยไม่เกิดประโยชน์หากลูกคิดว่าจะยังต้องการคบคนนั้นอีก ควรคอยให้ใจเย็นลงแล้วค่อยพูดจาทำความเข้าใจกัน (แรกๆดิฉันรู้สึกทำได้ยากเสียจริงๆ เพราะตนเองเป็นคนรู้สึกไวต่อท่าที และคำพูด “ใจน้อย” โต้ตอบเร็ว และเป็นคนสู้ไม่ถอยหากรู้ตัวว่าไม่เป็นคนผิด แต่ต่อมาเมื่อมีชั่วโมงบินมากขึ้น ก็ช่วยให้มองเห็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและ “ทำใจ” ตั้งสติได้ดีขึ้น และได้เห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับตนเอง และการตอบสนองของคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง) การตัดสินใจเซ็นชื่อลาออกจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟเพื่อไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หลังจากลังเลใจด้วยความรักโรงเรียน เพื่อนและผูกพันกับมาแมร์ และคุณครู ที่ต่อสู้กับความสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์ที่ทางโรงเรียนเซนต์โยฯ ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านอาจารย์และ Lab ในยุคนั้น และความท้าทายของการแข่งขันเข้าโรงเรียนเตรียมฯ ที่มีสถิติเข้ามหาวิทยาลัยสาขาแพทย์ และวิทยาศาสตร์สูงที่สุดในประเทศ ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ดิฉันลุกขึ้นไปเซ็นชื่อลาเป็นคนแรกคือ คำกล่าวของมาเซอร์ที่บอกว่า “พวกนักเรียนที่เรียนดีแล้วคิดจะไปเรียนต่อที่โรงเรียนอื่น ถือว่าเป็นพวก “ทรยศ” เพราะไม่อยู่ทำชื่อเสียงให้โรงเรียน แล้วถ้าสอบเข้าไม่ได้ อย่าหวังว่าจะรับกลับมาอีก” ดิฉันจำได้ดีว่ารู้สึกเสียใจผิดหวังมากที่ท่านรักลูกศิษย์แบบเป็นเจ้าของไม่ได้เห็นแก่อนาคตของศิษย์ พอเซ็นชื่อลาออกแล้วก็ใจไม่ดีว่าจะไปแจ้งข่าวนี้แก่หม่าม้าอย่างไร ท่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เชื่อไหมคะว่าหม่าม้าเก่งมากแค่ถอนใจ และบอกว่าลูกตัดสินใจแล้วต้องทำให้ดีที่สุด เหมือนพระเจ้าตากที่ทุบหม้อข้าวก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรี ลูกต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจนี้นะ แต่ถ้าเข้าโรงเรียนเตรียมฯ ไม่ได้ก็คงยังมีโรงเรียนอื่นๆเป็นอันดับสองลงไป และแล้วโชคดีที่ดิฉันสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมได้เป็นรุ่น 27 มศ.4 ห้อง 39 ตึก 1

ชีวิตนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ที่นี้เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการเรียน และสังคมเพราะรวม”ยอดคนเก่ง”มาจากโรงเรียนและภูมิหลังที่หลากหลาย มีการแข่งขันสูง และอาจารย์มีความคาดหมายต่อนักเรียนสูงมากๆ ก่อนปิดเทอม มศ.4 ดิฉันรู้ว่าจะเป็น “summer ”สุดท้าย”ที่มีเวลาทำอะไรเล่นก่อนเข้าสนามแข่งขันสอบ Entrance เข้ามหาวิทยาลัย จึงเรียนปรึกษาอาจารย์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำชั้นว่า “ในครอบครัวดิฉันยังไม่เคยมีใครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมาก่อน และดิฉันเป็นคนจดงานช้ากลัวว่าฟัง Lecture และจะจดไม่ทัน เลยไม่ทราบว่าจะต้องไปเรียนชวเลข ไว้จะดีไหม เมื่อเทียบกับการไปเรียนตัดเย็บเสื้อหลักเซนติเมตรแบบฝรั่งเศสที่ดิฉันสนใจ และน่าเป็นประโยชน์ต่อชีวิตอย่างน้อยได้ช่วยเย็บเสื้อผ้าให้คุณแม่น้องๆ และตัวเอง” อาจารย์ยิ้มด้วยความเมตตาและสอนว่าในมหาวิทยาลัย หนูไม่ต้องจดทุกคำ ต้องตั้งใจฟัง อ่านและค้นคว้า การจดคำบรรยายต้องเพิ่มเติมโดยการอ่านตำราก่อน และหลังการบรรยาย ไม่เห็นจะต้องจดชวเลข ซึ่งมักจะใช้ในงานเลขานุการและผู้สื่อข่าวที่ต้องจดทุกคำพูด “ดิฉันดีใจได้ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า และมีผลผลิตเป็นเสื้อสวยๆหลายชุด ให้คุณแม่ ให้ตัวเอง ตัดเย็บชุดนอนให้น้องชายด้วย ในเวลาต่อมา แล้วยังได้ตัดเย็บผ้ากันเปื้อนให้คุณน้าน้อย คุณน้าเล็กผู้ที่เคยตัดเย็บชุดสวยให้ดิฉันตอนอยู่ชั้นประถมศึกษาอีกด้วย แต่ไม่ได้ไปเรียนพิมพ์ดีดกับชวเลข อาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ สอนสนุก เนื้อหาแน่นและมีโจทย์ที่ท้าทายความสามารถ เพื่อนทั้งหญิงชายต่างขยัน และตั้งใจเรียน มีบางคนที่มีน้ำใจดี มีหนังสือหรือบทความดีๆจะแบ่งปันและนำมาถกกัน พอปี มศ.5 ดิฉันได้มาเรียนในห้อง 125 ตึก 2 มีอาจารย์ภรณี กาญจนษฐิติ เป็นอาจารย์ประจำชั้น (ต่อมาจึงพบว่า ท่านเป็นน้องสาวของ อาจารย์หมอเพ็ญศรี กาญจนษฐิติ ที่สอนเรื่อง Growth and Development ที่ภาควิชากุมารฯรามาธิบดี) ที่โรงเรียนเตรียมฯ เราไม่ได้เรียนอย่างเดียว ยังมีการเล่นกีฬาสี ดิฉันเป็นปฏิคมสีเหลือง และเป็นนัก Net ball ด้วย ร้องเพลงหมู่เชียร์กีฬาโรงเรียน และจัดงานศิลปะหัตกรรมนักเรียน สมัยนั้น นักเรียนหญิง และชายจะคุมเชิงกันมาก พูดจาทำงานร่วมกันแบบสุภาพ หลังอาหารกลางวัน พวกเด็กผู้หญิงจะเข้าไปอยู่ในห้องเดียวกันจึงสนิทกันทั้งห้อง 28 29 38 และ39 และใน มศ. 5 เพิ่มห้อง 125 126 135 และ 136 หลายคนได้มาเป็นเพื่อนกันต่อในมหาวิทยาลัย ดิฉันเองเรียนได้คะแนนดีในวิชาฟิสิกส์แม่เหล็กไฟฟ้า จนอาจารย์ถามว่าจะเรียนวิทยาศาสตร์ หรือวิศวะ แต่ตัวเองสนใจอยากเรียนแพทย์ (คิดย้อนหลังว่าคงเกิดจากความประทับใจในคุณหมอ คุณพยาบาลที่เคยช่วยดูแลดิฉัน และน้องๆ และเห็นถึงความลำบากเดือดร้อนของครอบครัว เวลามีใครเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นคุณยาย น้องบางคนที่ชักเวลามีไข้สูง คุณพ่อเคยเป็นนิ่วที่กรวยไต เป็นต้น)ปีพ.ศ. 2508 ห้อง 125 สอบติดบอร์ด 1 ใน 50 คนแรกของประเทศไทยเกือบครึ่งห้อง ดิฉันได้ที่ 35 ซึ่งเกินความคาดหมายของตนเองทำให้ได้ไปลองสอบทุนเล่าเรียนหลวง (ทุน King) แต่สอบไม่ได้ และในปีนั้น ทางทบวงมหาวิทยาลัยให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดสอบรับนักศึกษาโดยตรง นักเรียนต้องไปสมัครสอบแยกสถาบัน แยกการสอบ ดิฉันสมัครสอบทั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกว่าวิ่งสอบกันทั้งเดือน พอประกาศผลก็ต้องไปสัมภาษณ์ทุกแห่ง นับป็นจุดหักเหในชีวิตเมื่อ “หักใจ” จากการเข้าเรียนแพทย์ที่จุฬาฯ ที่ตนเองรักมากตั้งแต่เป็น “พระเกี้ยวน้อย” ว่าที่จริงหาข้อมูลเกี่ยวกับจุฬาฯ มาก ร้องเพลงจุฬาได้ทุกเพลง ตามไปดูฟุตบอลประเพณีหลายครั้ง แต่ “มิกล้าไป” เพราะกลัวใจตัวเองที่ชอบทำกิจกรรมมากเกรงจะไปเรียนไม่จบ ซึ่งคงจะทำให้พ่อแม่เสียใจ และเป็นตัวแบบอย่างที่ดีให้น้องไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเห็นพี่ๆที่คณะ สถาปัตย์สนุกมากทุกวัน จากตึก 1 และตึก 2

ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

ในที่สุดจึงได้เข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (ชื่อในขณะนั้น) ซึ่งตอนอาจารย์ นต. ดร. กำจร มนุญปิจุ มาบรรยายแนะนำให้นักเรียนเตรียมฯรู้จัก ท่านบอกว่าที่นี่ต้องการนักศึกษาที่ตั้งใจเรียน ไม่ใช่มาเรียนแบบเล่น ๆ เพราะเรียนหนักครูเอาจริง จะได้มีบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถมารับใช้ชาติพวกเราเป็นรุ่น เตรียมแพทย์ SC 7 อยู่ในคณะที่มีอีก 6 สาขา ได้แก่ PP เตรียมเภสัชฯ PD เตรียมทันต, MT เทคนิคการแพทย์, PH สาธารณสุข, PT กายภาพบำบัด และ PN พยาบาล ซึ่งเรียนด้วยกัน 2 ปี ก่อนแยกย้ายไปเรียนคณะของตนเอง มีวิชาหลักบางอย่างเรียนด้วยกัน มีกีฬา บันเทิง รับน้องร่วมกันทำให้รู้จักกัน และเมื่อเติบโตก็ได้ทำงานร่วมกัน ที่นี่มีมีชื่อเรียกกันเล่นๆว่า “โรงเรียนอาจารย์สตางค์” ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอำนวยศิลป์ มีเพียงสนามหญ้าแคบๆ หน้าตึก กับสนามเตะตะกร้ออยู่ข้างตึก ดิฉันอยู่ในกลุ่มเพื่อน ๆ ที่มาจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ กลุ่มที่สนิทกันในปี 1 มีกุณฑล จงคดีกิจ, มธุรส มงคลสุข, สะออน ปทุมเทวาภิบาล ที่เรียน เล่น และร้องเพลงด้วยกัน ตอนเรียนถึงปลายปี 2 สมัยนั้นมีทางเลือก 3ทาง คือข้ามฟากไปศิริราช สถาบันเก่าแก่มีระบบอาวุโสที่เข้มแข็งมีรุ่นพี่เยอะ หรือไปเรียนต่อ ที่จุฬาฯก็ได้ แต่ตอนนั้นกลุ่มเราไม่คุ้นเคยนักทั้งที่เคยไปหาเพื่อน เคยไปใช้สนามฟุตบอล และมีโรงเรียนแพทย์ใหม่ คือ รามาธิบดี ที่ท้าทายมาก อาจารย์จะมาจากสหรัฐ เกือบยกทีม และเรียนเป็นภาษาอังกฤษ น่าท้าทาย และมีโอกาสทำ Lab และค้นคว้ามากรุ่นพี่ก็มีเพียงรุ่นเดียวคงจะไม่ค่อย “ว๊าก” นัยพินิจและดิฉัน ที่รวมกับเพื่อนๆ 64 คนเลือกและรับการคัดเลือกให้เข้าเรียนในคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่กำลังก่อสร้างอยู่เหนือกองขยะ และย้ายไปเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ที่มีตึกจานบิน พวกเราได้รับการติวเข้มภาษาอังกฤษจาก Mrs. Shank และคณะก่อนเปิดเรียนปี 3 ทำให้พวกเราต้องพูดคุยภาษาอังกฤษ ฝึกฟัง อ่านเขียน ร้องเพลงโต้วาทีฯลฯ ที่ให้พวกเราสนุกสนานกันมาก ร้องเพลง American Folk Song หลายเพลง แม้จะหวาดหวั่นอยู่บ้าง ว่าพอเรียน Pre-Clinic จะเป็นอย่างไร เห็นตำราแต่ละวิชาหนา จังเลย ภาษาเป็นศัพท์ทางเทคนิค ทั้งนั้น แต่เราต้องสู้ๆ เพราะโอกาสที่จะเรียนเหมือนนักศึกษาเมืองนอกทันสมัยเปี๊ยบ โดยไม่ต้องไปต่างประเทศ พ่อแม่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล เห็นที่จะต้องลองดู

จากนักศึกษาแพทย์ฟุตฟิตฟอไฟ เป็นอาจารย์
ทศวรรษที่สาม (2511 – 2520)

เมื่อเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 3 พวกเราต้องปรับตัวกับการเรียนครั้งยิ่งใหญ่ เพราะมีคณะอาจารย์อเมริกัน ที่ส่งมาโดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด Lecture วันละ 2 ชั่วโมง ทำ Lab ค้นคว้า และมีการอภิปราย กันทุกวัน ตำราเป็นภาษาอังกฤษ + วารสารวิชาการที่ทันสมัย ขนาดได้รับการติวเข้มภาษาอังกฤษ แล้วพวกเรา 64 คนก็ต้องขวนขวายช่วยกันอัดเทปคำบรรยายด้วยเครื่องบันทึกกระเป๋าหิ้วแบบม้วน 5 นิ้ว แบ่งกันถอดเทปแล้วใช้กระดาษก๊อปปี้ ซ้อนกัน 5 ชั้น ต้องใช้เวลาแกะราว 5 ชั่วโมง โดยต้องเปิดตำรา ตรวจสอบศัพท์ และเนื้อหาไปด้วย เพื่อนนักศึกษา 64 คน แบ่งออกเป็น 16 บล็อคๆละ 4 คน ดิฉันและนัยพินิจ อยู่ในบล็อคเดียวกันกับ ธำรง และ นิรมล ใครสนใจถนัดเรื่องใด จะช่วยติวเพื่อนๆ นัยพินิจ เป็นผู้ติว Neuroanatomy, Physiology และ Cell Biology และต่อมาก็ติว Pharmacology ด้วย ช่วงใกล้สอบอยู่ทำงาน ทบทวน และติวกันจนค่ำ บางทีโรงอาหารปิดแล้วต้องต้มถั่วเขียวกินกันใน Multi-disciplinary Lab (MDL) อาจารย์จะให้ assignment reading ล่วงหน้า และหลัง lecture ด้วย เวลาสอบจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งใน lecture ใน text book และใน journal ทำให้พวกเราต้องตื่นตัวค้นคว้า และนำสิ่งที่พบเห็นมาพูดคุย ถกกันบ่อยๆ บางครั้งพวกเราเตรียมจะสอบอีกวิชาหนึ่ง ก็มีบางคน “โดดร่ม” วิชา Anatomy จำได้ดีว่าอาจารย์ Dr. Holland ผิดหวังพวกเรามาก ท่านเรียกมาเทศนา ว่าการที่เราได้มีโอกาสมาเรียนด้วยการลงทุนจากภาษีอากรของราษฎร และครูตั้งใจมาสอนข้ามน้ำข้ามทะเลมา หากเราไม่ตั้งใจเรียน ก็ควรไปแลกที่กับเด็กที่ขาดโอกาส เช่น พวกที่กำลัง “riding buffalo” ทำให้พวกเรารู้สึกสำนึกตัว ท่านอาจารย์ทุกคนทั้งไทยและเทศคงจะต้องพยายามมากในการวางแผนการเรียนการสอน หาอุปกรณ์ และทุ่มเทเวลาให้กับพวกเรามาก มีทั้ง ปลอบแและท้าทายให้นักศึกษาที่เคยได้แต่ฟัง ได้จดตามครูสอน มากลายพันธุ์เป็นผู้หัดค้นคว้า หัดคิดเอง และ ประมวลผลจากการทดลอง นำมาวิเคราะห์ และฝึกหัดสังเคราะห์ มองย้อนหลังไปดิฉันรู้สึกว่าตัวเอง และเพื่อนๆโชคดีมาก และรู้สึกขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่มีส่วนช่วยให้เกิดการเรียนการสอนระบบนี้ และรู้สึกเสียดายแทนน้องๆรุ่นหลังที่ไม่มีโอกาสเรียนแบบพวกเรา อย่างไรก็ตามพวกเราหลายคนได้นำแนวทางเหล่านี้มาใช้สอนลูกศิษย์ต่อไป ในตอนนั้นพวกเราได้รวมตัวกันแสดงความขอบคุณอาจารย์ชาวต่างประเทศที่จากบ้านมาสอนพวกเราโดยร่วมกันจัดงาน Christmas Party และเชิญอาจารย์กับครอบครัวมาร่วมงาน ดิฉันทำเนื้อร้อง และเทปเพลง Christmas มาให้เพื่อนๆ ซ้อม เพลงหนึ่งที่ฮิตมากคือ Twelve days of Christmas มี Woody(ธีรวุฒิ) กับประพันธ์ เล่นกีต้าร์ พรเทพ กุณฑล รัตนา ศรีประภา และนัยพินิจ กับ ดิฉัน เป็นต้นเสียง พวกเราไปจัดงานกัน ที่ร้าน Swiss Inn ของคุณพ่อ Woody ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องไส้กรอก ปรากฎว่าทั้งอาจารย์กับครอบครัว และพวกนักศึกษา สนุกกันมาก ทางฝ่ายอาจารย์ก็ผลัดกันเลี้ยงกลุ่มนักศึกษาที่บ้านของท่านทำให้เราหัดสนทนาภาษาอังกฤษ และเรียนรู้ประเพณีของชาวอเมริกัน

เมื่อความรักบังเกิด

ดิฉันกับ นัยพินิจ สนิทกันมากขึ้น ช่วยกันเรียน ช่วยกันทำงาน ทั้งด้านวิชาการ และด้านส่วนรวม เราเอาใจใส่ดูแลกันและกัน และเริ่มวางแผนชีวิตร่วมกัน เราพากันไปกราบคุณพ่อคุณแม่ทั้งสองฝ่าย ไปร่วมกิจกรรมกับทั้งสองครอบครัว ดิฉันได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคุณพ่อ คุณแม่ และพี่น้องของนัยพินิจ โดยมาทราบว่าฝ่ายหญิงทุกคน เรียนโรงเรียนเซนโยเซฟฯ คุณแม่พยอม คชภักดี ชวนให้ดิฉันช่วยเวลาทำอาหาร พลางร้องเพลง South Pacific ด้วยกัน ส่วนนัยพินิจ ก็เข้ากันได้ดีกับครอบครัวของดิฉัน บ่อยครั้งที่ชวนไปเล่นบาสเก็ตบอล (คุณพ่อของดิฉันเป็นนักบาสฯเก่า น้องชายทั้งหลายก็ชอบเล่นบาสฯ ข้างนัยพินิจก็เป็นประธานบาสฯ ชาย ดิฉันเป็นประธานบาสฯ หญิง ของ Sc) บางครั้งนัยพินิจกับดิฉันช่วยขับรถไปส่งของให้กับที่ร้าน ส.สีลมสโตร์ หม่าม๊า ทำกับข้าวเลี้ยงครอบครัวแล้วก็ชวนนัยพินิจ และเพื่อนของลูกๆ รับประทานอาหารด้วยกันเสมอ ในร้านเล็กๆของเรา ดิฉันยังรู้สึกขันไม่หายเมื่อคิดถึงครั้งแรกที่เราสองคนได้ไปดูหนังด้วยกัน นัยพินิจทำอย่างไรก็ไม่รู้ จึงสามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่ กับน้องๆของเขา มาชวนป่าป๊า หม่าม๊า และน้องๆของดิฉัน 2-3 คนไปดูหนัง เรื่อง แปดสิบวันรอบโลก (80 Days Around the World) ด้วยกัน คล้ายกับไปดูหนังทั้งสองทีม ไปกันสิบกว่าคนในช่วงที่เราพ้นวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่เป็นศึกษาแพทย์ปี 3 ขึ้นไป การมีคนรักที่จริงใจให้กำลังใจแก่กัน ช่วยกันฝันและทำความฝันให้เป็นเป็นจริง เรียนรู้โลกไปพร้อมๆกัน ชื่นชมกันสิ่งดีงามรอบตัวด้วยกัน เวลาเกิดปัญหาก็ปรึกษาหาทางออก โดยให้เกียรติ และนับถือซึ่งกันและกัน มองย้อนหลังแล้วดิฉันรู้สึกว่าความรักจริง หวังแต่งงานในระหว่างนักศึกษาที่มีความรับผิดชอบเป็นความงดงามของชีวิต ดิฉันกับนัยพินิจ โชคดีที่ได้มาพบกันเรียนรู้แและรักกันจากวันนั้นถึงวันนี้รวม 40 กว่าปี ผ่านความสุข ความทุกข์ หนาวและร้อนมาร่วมกันเคยทั้งอยู่ใกล้ชิดกัน และเคยจากกันอยู่คนละซีกโลกทีละนานๆหลายๆครั้ง เราทั้งสองพยายามช่วยกันประคับประคองความรัก และสายสัมพันธ์ไม่ให้จืดจางหายหรือหลุดลอยไป

ชีวิตนักศึกษาแพทย์ช่วงท้ายชั้น Pre-Clinic

ช่วงปี 4 เราเริ่มเรียน วิชาที่เข้าใกล้วิชาแพทย์เพิ่มขึ้น คือพยาธิวิทยา และ Pharmacology ซึ่ง Dr. Kuperman สอนให้สิ่งที่ยากกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และมีความสำคัญต่อการเป็นแพทย์อย่างยิ่ง อีกวิชาหนึ่งที่พวกเราตื่นเต้นมากคือ Correlated Neuroanatomy ที่พวกเราได้เรียน กับอาจารย์ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ร่วมกับอาจารย์แพทย์ ได้แก่ อาจารย์อรรถสิทธิ์, อาจารย์รัชชะ, อาจารย์สิระ นำผู้ป่วยมาให้เรียน อธิบายอาการ และพยาธิสภาพตาม Neuroanatomy physiology และยืนยันด้วย Radiology ซึ่งสมัยนั้นมีเพียง Angiogram ยังไม่มี CT หรือ MRI ซึ่งทำให้พวกเราคล้ายเป็นนักสืบ ที่ต้องใช้ประวัติ อาการ และผลการตรวจร่างกาย เป็นข้อมูลสำคัญ อีกวิชาหนึ่งที่ทำให้พวกเราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิชา Pre-Clinic กับวิชาการแพทย์ คือ Clinical Pathology ที่มีอาจารย์แพทย์ จากรามาธิบดี ได้แก่ อาจารย์ณัฐ, อาจารย์วิจิตร, อาจารย์เบญจะ จากภาควิชาพยาธิสอนร่วมกับ อาจารย์ถนอมศรี จากภาควิชาอายุรศาสตร์ และ อาจารย์ภัทรพร จากภาควิชากุมารฯที่สอนเคียงบ่าเคียงไหล่ ดิฉันรู้สึกประทับใจใน “ความเฉียบ”, ความละเอียดละออ “ความเนี๊ยบ” และความสง่างาม ทำให้เวลาเรียนบทนำทางคลินิคน่าสนใจขึ้น เพราะทำให้ได้ไปเรียนกับอาจารย์ ที่โรงพยาบาล รู้สึกใกล้ความเป็นแพทย์อีกขั้นหนึ่งช่วงปี 3 ต่อกับปี 4 นี้ ดิฉันได้รับเลือกให้ทำ Honor Student Project เป็นการวิจัยเรื่อง Encystations of Entamoeba viridan โดยมี Dr. Gordon Bailey ภาควิชาชีวเคมีเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ส่วนนัยพินิจ ร่วมทำ Lab กับ Dr. Root ตั้งแต่ก่อนขึ้นปี 3 ได้ทำวิจัยต่อ ด้าน Physiology กับ Dr. Gordon J. Leitch เกี่ยวกับ Ion Transport ในTurtle Urinary Bladder Epithelium โครงการวิจัยเหล่านี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้ทักษะ และมีวินัยในการทำวิจัย ทำงานร่วมกับอาจารย์ และพี่ๆ ปริญญาโท และ เอก ได้เขียนรายงานการวิจัยเพื่อนำเสนอและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ นับว่าเป็นนักวิจัยน้อย ท่ามกลางบรรยากาศนักวิชาการที่เข้มข้นกว่านักเรียนแพทย์ในโรงเรียนอื่น

ชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี

วันที่ 2 พฤษภาคม 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินมาเปิด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พวกเราเป็นนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี รุ่น 2 ได้มีโอกาสเข้าแถวรับเสด็จฯ ต่อมาในงานปีใหม่ของรามาธิบดีพวกเราได้รับเชิญให้จัดการแสดงไปร่วม แต่พอถึงเวลาจริงกลับถูกเบียดจนไม่ได้เล่นหลังจากนั้น กลุ่มเราตั้งปณิธานว่าถ้าเราได้เป็นคนจัดงาน เราจะระมัดระวังไม่ให้เกิดการเสียความรู้สึกแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นกับกลุ่มเด็กหรือผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อเราเป็นพี่รุ่นโตขึ้นจะพยายามทำให้น้องเตรียมฯแพทย์ pre-clinic ปี 3-4 ที่เรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรามาธิบดีด้วย (ต่อมาเมื่อดิฉันเป็นเลขานุการสโมสรนักศึกษาแพทย์ ชมรมแพทย์ฝึกหัด และแพทย์ประจำบ้าน และนายกสมาคมฯศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดีตามลำดับ จึงเชิญน้องๆมาร่วมงานไม่ว่าจะเป็นหน้าหอแพทย์ หรือบางปีบนดาดฟ้าหอแพทย์ และงานศิษย์เก่าคืนสู่เหย้าเท่าที่จะทำได้) มีครั้งหนึ่งดิฉันได้ร่วมเล่นลิเกกับรุ่นน้องด้วยโดยเล่นเป็นพระมารดาของพระจันทโครพ (สมพล พงษ์ไทย รุ่น 3) และต่อมาคณะของเราก็มีระบบลูกศิษย์ระหัส กับอาจารย์ระหัส ของดิฉันเป็นรหัส 28 ที่ดูแล นักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปี 1 – 6 รุ่นละคนการข้ามมาเรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5 และ 6 เปลี่ยนหลายอย่างในการดำรงชีวิต พวกเราแบ่งเป็น 8 กลุ่มๆละ 5 คนในภาควิชาต่างๆ และตอนบ่ายมาเรียน Core – lecture ที่ห้องบรรยายรวม ต้องขึ้นมาดูคนไข้ตั้งแต่ 5 นาฬิกา Round กับพี่ intern พี่ resident และอาจารย์ ซักประวัติ ตรวจร่างกายคนไข้ เขียนรายงาน ทำ Lab อุตลุด ทั้งวัน แถมอยู่เวรทุก 2-3 วัน แล้วต้องย้านมาอยู่หอพักแพทย์ กลับบ้านได้เฉพาะวันเสาร์บ่าย หลังจาก Round รอบเช้าแล้ว ดิฉัน อยู่ห้องพักเดียวกับ บุปผา และอยู่ห้องพักติดกับ ศรีประภา และอุไรวรรณ

หากเราต้องจากกัน...

นัยพินิจ มาเรียนปี 5 ได้ 2 กอง medicine และ surgery แล้วก็ได้รับทุน Rockefeller Foundation Scholarship ที่เป็นทุนสร้างอาจารย์ที่ University of Illinois, Urbana-Champaign, Illinois สหรัฐอเมริกา ออกเดินทางเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2513 คิดย้อนหลังยังจำได้ดี ว่ากว่าดิฉันจะปรับตัวได้ ก็ใช้เวลานานทีเดียว ได้ยินเพลง Dear Heart กับ Leaving on a jet plane ก็อดน้ำตาไหลไม่ได้เลย ผ่านไปที่ๆเคยไปด้วยกันก็จะคิดถึงมาก ช่วงนั้นเรียนอยู่แผนกตาถูกอาจารย์ จรีเมธ ล้อเอาบ่อยๆ นัยพินิจจะขอหมั้นไว้ก่อน ดิฉันบอกว่าไม่อยากให้กลับมาหาเพราะแหวนหมั้น อย่างไรก็ตาม นัยพินิจ ได้พา คุณพ่อแปลก คุณแม่พยอม มาพบคุยถึงอนาคตทั้งสองกับ ปาป๊า หม่าม๊า และอาม่า ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐ เพื่อให้ดิฉันและครอบครัวมีความมั่นใจว่าผู้ใหญ่รับทราบ และเห็นชอบกับความรักของเราทั้ง 2 ทั้งมุ่งหมายว่า จะให้เป็นคู่ชีวิตกันหลังสำเร็จการศึกษา ความเชื่อมั่นศรัทธาในกันและกัน ความฝันที่สร้างร่วมกันตลอดจนความสม่ำเสมอในการติดต่อกัน โดยจดหมายรวมกันกว่า 650 ฉบับ การ์ดต่างๆที่ส่งถึงกันทั้งที่ทำเองและซื้อมา เทปคาสเซต ที่บันทึกเสียงที่ส่งให้กันนับ 10 ตลับที่ส่งให้กันนั้นเกิดจากความรักความคิดถึง และความพยายามที่จะรู้ความเป็นไป แบ่งปันทุกข์สุข และให้กำลังใจต่อกัน ทำให้เวลา 3 ปี 4 เดือน กับ 7 วัน ที่เราอยู่ห่างกันคนละซีกโลก ผ่านไปได้ โดยเราทั้งสอง ต่างสามารถเรียน และทำงานได้ผลดี ระหว่างนั้น ทางบ้านของนัยพินิจ โดยเฉพาะคุณแม่ และน้องเป้ามารับดิฉันไปทานข้าวที่บ้านพญาไทอยู่บ่อยๆ ทางครอบครัวของดิฉัน ก็คอยถามไถ่บ่อยๆถึงนัยพินิจ และคอยให้กำลังใจกันบ่อยๆ เราจะมีกิจกรรมอยู่บ่อยๆเสมอๆ ทุกๆเดือนจะต้องมีวันเกิดของใครซักคนบางทีก็เป็นฉลองตรุษจีน วันสารทจีน คริสมาส ปีใหม่ สงกรานต์ ทำบุญด้วยกัน ทั้งเฉพาะครอบครัวจิราธิยุต และ บางทีก็เป็นรายการพบกันหมด ซึ่งหมายถึง 3 ครอบครัว กับคุณยายที่มีหลานรวม 13 คน

เตรียมตัวเป็นบัณฑิต
แพทย์รามาธิบดี รุ่นที่ 2

พวกเราเป็นแพทย์รุ่นที่ 2 ที่จะต้องทำงานในโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ห่างไกล “ใช้ทุนหลังเรียนจบแพทย์ซึ่งเป็นประกาศบังคับโดยไม่ได้ตกลงไว้ก่อนตอนเข้าเรียน และรัฐไม่ได้ให้ทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด” พวกเราจึงขวนขวายที่จะทำความรู้จักกับนโยบาย และระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน นอกโรงเรียนแพทย์เพื่อจะได้เตรียมตัวไว้ก่อน ยงยศ ศรีประภา และดิฉัน อาสาขอนัดพบและสัมภาษณ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้นคือนายแพทย์โกมล เพ็งสีทอง และได้เชิญ อ. หมอ กระแส ชนะวงษ์ ผู้เพิ่งได้รับรางวัลแพทย์ชนบท และกลับมาจาก East –West Center ที่ Hawaii มาบรรยายให้นักศึกษาแพทย์ ทราบเกี่ยวกับบทบาทของแพทย์ในชนบท และ Health Care System มองย้อนหลังก็เห็นว่าพวกเราที่เรียนมาแบบ American ก็มีความรับผิดชอบต่อมวลชน และตั้งใจจะเป็นคุณหมอที่ดีของประชาชนด้วยวันมหิดล 24 กันยายน 2513 เป็นวันที่ ปาป๊า หม่าม๊า คุณยาย คุณน้า ตื่นเต้นดีใจ ไม่น้อยกว่าตัวดิฉัน ที่เป็นคนแรกของครอบครัว ที่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ วันต่อมาพวกเราจัดงานฉลองปริญญาที่ โรงแรม Sheraton ถนนสุริวงค์ (ตอนนี้เป็นโรงแรมตะวันนา รามาดา ) มีการเต้นรำ กันอย่างสนุกสนาน น้องชายคนโต คือ วิสุทธิ์ ตอนนั้นเข้าเรียน วิศวะฯ จุฬาฯ แล้วได้มาชวนดิฉันเต้นรำแล้วถามว่า “พี่นัยพินิจต้องไปเรียนนานเท่าไหร่ถึงจะกลับมา?” น้องชายที่น่ารัก คงจะสังเกตเห็นเพื่อนๆของดิฉันเต้นรำเป็นคู่ๆ อย่างเป็นสุข และคงจะรู้สึกเห็นใจดิฉันนั่นเอง รามาธิบดีรุ่น 2 นับว่าเป็นแชมป์ ในเรื่องที่มีเพื่อนรุ่นเดียวกัน รักกัน แล้วแต่งงานกันมาเป็นคู่ชีวิตที่ยาวนานกันถึง 7 คู่ ดิฉันรู้สึกประทับใจ ในอาจารย์แพทย์หลายๆท่านที่สอนพวกเรา อาจารย์มีความเสียสละและ เก่งอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เช้าวันเสาร์ มีอาจารย์มาสอนพิเศษ ให้กับนักศึกษาแพทย์ได้แก่ทีม อาจารย์อรรสิทธิ์ และ อาจารย์สิระสอน Neuro และนำผู้ป่วยมาสาธิตด้วย ส่วนอาจารย์ดิเรก อาจารย์ธำรงรัตน์ และ อาจารย์อรัญ มาสอน ศัลยกรรมกระดูก Orthopedics หลังท่านทำการผ่าตัดแต่เช้ามืด นับว่าอาจารย์ได้เสียสละเวลาส่วนตัวมาสอนด้วยความหวังดีต่อลูกศิษย์ ฝ่ายผู้เรียนก็ตั้งใจมา เพื่อการเรียนรู้จริงๆ ทั้งนี้การเรียนการสอนพิเศษไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ไม่มีหน่วยกิตและอาจารย์ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่มาสอน แต่ทั้งสองฝ่ายมีความสุข และลูกศิษย์มีความซาบซึ้งในพระคุณของอาจารย์มากที่สุด ประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีน่าจะเป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือตอนเรียนวิชากุมารฯ ดิฉัน กับจันทราภา โชคดีที่ได้ อาจารย์ จันทรนิวัทธ์ (ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ มรว.จันนิวัทธ์ เกษมสันต์ ซึ่งต่อมาดิฉันนับถือเป็น Academic Mother) เป็น Preceptor ท่านตรวจรายงานผู้ป่วยเด็กอย่างละเอียด ทำให้เราเรียนรู้ที่จะทำงานอย่างรอบคอบ มุ่งสู่การไม่มีที่ผิด (flawless) และนำเอาความรู้ จาก Pre Clinic มาประยุกต์ในการดูแลผู้ป่วย และวิเคราะห์ผล Lab เมื่อเราเขียนผิด อาจารย์จะกำชับให้เราแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนอาจารย์สุภรี เพิ่งกลับมาจากสหรัฐ ท่านงดงามกระฉับกระเฉง สอนสนุกทั้งทฤษฎี และปฎิบัติ เกี่ยวกับโรคปอดในเด็กในตอนที่ดิฉันเรียนอยู่ปี 6 ซึ่งในค่ำวันนั้นดิฉันอยู่เวร ที่ Ward เด็ก 1 ได้ใช้สิ่งที่อาจารย์สอนตอนเช้ามาช่วยเด็กที่หายใจไม่ออก ให้หลอดลมหายอุดตัน ช่วงเรียนจิตเวช อาจารย์ศรีธรรม ธนภูมิ ทำให้ดิฉันเปิดตาเปิดใจหัดสังเกตพฤติกรรม และประเมินสภาพจิตของเด็กกับพ่อแม่ของเขา อาจารย์มักให้พวกเราซักประวัติ ประเมินเด็กและพ่อแม่โดยท่านสังเกตดูแล้ว ให้เรานำเสนอ ท่านชี้ให้เห็นปฎิกิริยาและความน่าจะเป็น การพิเคราะห์แยกโรค และการปรึกษาให้คำปรึกษาแนะนำ อาจารย์ถนอมศรีสอนพวกเราให้แยกแยะเม็ดโลหิต ไขกระดูก เรียนรู้การเฝ้าระวังผู้ป่วย DIC อาจารย์สมพนธ์ไม่ต้องดุด้วยวาจา เพียงแต่มองแบบยิ้มๆ เวลา Round คนไข้ ลูกศิษย์ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาให้ดีก็เย็นวาบไปถึงสันหลัง ยังมีอาจารย์ และพี่ๆแพทย์ประจำบ้านอีกหลายท่านที่ช่วยสั่งสอน ช่วยดูแล และเลี้ยงพวกเรา ดิฉันคิดว่าการเรียนแพทย์เป็นประสบการณ์พิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้เชิงวิชาการที่หลากหลาย เรียนรู้ชีวิต และทำให้เรารู้ซึ้งถึงคุณค่า และความหมายในตัวเอง และคนอื่นตลอดจนเห็นสัจจธรรมของชีวิต นอกเหนือไปจากการส่งต่อความรู้ฝึกทักษะวิทยายุทธ ความปรารถนาดีจากครูสู่ศิษย์ จากพี่สู่น้อง ผู้ที่โชคดีเคยได้รับการดูแล อบรมสั่งสอน ไมตรีจิตจึงมีหน้าที่สืบทอดให้กับน้องรุ่นต่อๆไป นี่เป็นหลักที่ดิฉันและนัยพินิจถือปฏิบัติอย่างเต็มใจ ภูมิใจและมีความสุขที่ได้ทำเสมอมา

เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นแพทย์ intern

แล้วพวกเราก็เรียนสำเร็จเป็นแพทย์ศาสตร์บัณฑิตสมความฝันใฝ่ในปี 2515 คุณหมอใหม่สาวๆรามาธิบดี รุ่น 2 พากันขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวภูเก็ตด้วยกัน ก่อนกลับมาลุยงานเป็น intern ซึ่งต้องแยกย้าย กันไปหลายโรงพยาบาล จำได้ว่าตอนนั้นได้เงินเดือนๆแรก 1,800 บาท นำไปกราบหม่าม้า ป่าป๊า รู้สึกภูมิใจมาก ดิฉันได้รับเลือกเป็นเลขานุการ ชมรมแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านรามาธิบดี สุรีรัตน์ ไชยวิรุณรักษ์ (อดีตหัวหน้าภาควิสัญญี และประธานราชวิทยาลัยวิสัญญี)เพื่อนรักเป็นเหรัญญิก และพี่สุชาติ อารีมิตร resident ศัลย์ (อดีตคณบดี คณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น) เป็นประธานในยุคที่เริ่มก่อตั้ง พวกเราเป็นตัวแทน intern resident ในการปรึกษาหารือกับอาจารย์ ผู้บริหาร โรงพยาบาล ให้ช่วยดูแลสวัสดิการ การอยู่เวร การศึกษาต่อเนื่อง และกิจกรรมที่ทำกับสังคมด้วย ที่จำได้ก็คืองานทำบุญหอพัก การปลูกต้นไม้ ทำลานปิ้งบาร์บีคิว ทำบ่อปลาที่หน้าหอแพทย์ก่อนสร้างหอแพทย์ปัจจุบัน ต้นสนเป็นแนวระหว่างหอพักแพทย์กับสถาบันมะเร็งฯ สูงจนเกินหอแพทย์ มองที่ไรก็ดีใจที่ได้ช่วยกันปลูก ดิฉันได้รับการฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อีกสามปี

เริ่มต้นชีวิตครอบครัวแห่งความรัก “คชภักดี”

วันที่รอคอยมาถึงในวันที่ 29 ธันวาคม 2516 ก่อนนั้นประมาณ 4-5 วัน ได้รับโทรเลขจากนัยพินิจ ว่าจะมาถึงกรุงเทพฯโดย.”Pan Am flight 1 1 am Dec29, 1973” ตอนนั้นมี curfew เพราะเพิ่งผ่าน 14 ตุลาคม มาไม่นานดิฉันนัดกับปาป๊า ว่าไปรับนัยพินิจกันที่ดอนเมือง ตอน 11 น. และตอนเช้าเตรียมใส่บาตรทำบุญวันเกิด 26 ปี ปรากฎว่าเช้านั้นก่อน 6 น. มีเสียงออดหน้าร้านที่อยู่ใกล้โรงแรมนารายณ์ ปาป๊าลงไปดู จึงพบนัยพินิจยืนถือกุหลาบสีแดงอยู่หน้าร้าน นับเป็นของขวัญวันเกิดที่วิเศษที่สุดในโลก เขากล่าวว่า Pan Am Flight 1 เข้าเวลาตี 1 ซึ่งดิฉันอ่านแล้วเข้าใจผิดว่าเขาจะมา 11 น. โธ่เอ๋ย !! เขาอุตส่าห์บุกฝ่าหิมะมา นั่งเครื่องบินมาหลายชั่วโมง ถึงดอนเมืองในช่วงตี 1 เป็น curfew ไม่พบใครเลย !! วันนั้นเราได้ทำบุญตักบาตรด้วยกัน

จากนั้นอีก 2 เดือน เราหมั้นกัน แล้วก็แต่งงานกันในวันที่ 12 พฤษภาคม 2517 โดยนัยพินิจ มารับเจ้าสาวพร้อมกับคุณพ่อและน้องชาย ตั้งแต่เช้ามืด มีพิธีสงฆ์และรดน้ำสังข์ที่บ้านคุณตาคุณยายของนัยพินิจ ที่ซอยอโศก แล้วมาเลี้ยงโต๊ะจีนที่คณะวิทยาศาสตร์ งานฉลองมงคลสมรสของเราคล้ายกับงานปีใหม่ เพราะมีอาจารย์ทั้งสองคณะ พี่น้องเพื่อน และญาติพี่น้อง

โชคดีที่ทางคณะวิทยาศาสตร์มี apartment ให้อาจารย์ใหม่อยู่ทำให้เราย้ายมาอยู่ที่ห้อง R 401 ห้อง lab นัยพินิจ อยู่ที่ชั้น 2 ดิฉันเพียงแค่เดินข้ามไปทำงานได้ภายใน 10 นาที ทำให้การปรับตัวจากแพทย์ประจำบ้านกุมารฯสาวโสดที่อยู่หอแพทย์ เพิ่มบทบาทเป็นภรรยา ไม่ยากจนเกินไป เรา 2 คน ช่วยกันทำอาหารเลี้ยงเพื่อนทั้งไทยและเทศที่ R 401 บ่อยๆ รวมทั้งน้อง ๆ intern resident กุมารฯ ด้วย มีช่วงหนึ่งที่ดิฉันรู้สึกเงียบเหงามาก เพราะนัยพินิจทำ lab แล้วติดลมบน ไม่กลับมา จนถึงตี 2 เดิมดิฉันชินกับการอยู่หอแพทย์มีเพื่อนคุยกัน บางทีก็ดู TV อ่านหนังสือปรึกษาหารือกันบ้าง แต่งงานแล้วกลับต้องอยู่คนเดียว แล้วต้องไป round ตั้งแต่ 7 น. กลับมาก็ราว 6 โมงเย็น ถ้าไม่อยู่เวร บางวันก็ต้องกลับไปอยู่เวรถึงเช้า ดิฉันเคยผลอยหลับไปขณะทำกับข้าวเลยเป็น “แม่ครัวสละหม้อ” ต่อมาหาอะไร ๆ มาทำให้เพลิน เช่น เอาจักรมาเย็บผ้า ไปหัดทำขนมที่เสรีวัฒน์ เด็กๆที่ ward กับชาวกุมารฯ เลยเป็น “หนูทดลอง” ชิมขนมบ่อยๆ สมัยนั้นเวลาอยู่เวรต้องคุม ER เด็ก 4 คอยรับทารกแรกเกิดจากห้องคลอด resident อีกคนคุม Ward เด็ก 1 เด็ก 2 เด็ก 5 เช้าขึ้นต้องนำคนไข้ที่รับมาใหม่ ไปรายงานใน Morning Report งานหนักมาก แต่สนุกถึงลูกถึงคน เวลามีคนไข้หนักปรึกษาพี่และอาจารย์ได้ บางครั้งอาจารย์ก็มา round รอบดึก พร้อมกับนำของว่าง ขนมหรือ ก๋วยเตี๋ยวมาฝาก

ชีวิตแพทย์ประจำบ้าน สาขากุมารเวชศาสตร์

ระหว่างการฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน สาขากุมารฯ 3 ปี ดิฉันได้เรียนรู้จากเด็กๆ กับครอบครัว จากครูอาจารย์ จากเพื่อน และผู้ร่วมงานทุกฝ่ายอย่างมากมาย พวกเราทำงานหนักรับผิดชอบสูง และตอนนำเสนออาจารย์ทั้งหลายต่างมีความรู้ ขยันดูคนไข้ ขยันสอน “เคี่ยว” ให้พวกเราเป็นหมอเด็กที่ดี วิจัยได้ และให้โอกาสเรียนรู้จากการปฏิบัติและการร่วมประชุมวิชาการ ดิฉันได้ไปปฏิบัติงาน ที่รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ ที่อุบลฯ ที่นี่มี case diphtheria หลายราย แต่มี antiserum เหลือเพียงหลอดเดียว ดิฉันจึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมศูนย์วิจัยโภชนา มีอาจารย์สาคร ไปทำวิจัยภาคสนาม และไปช่วยอาจารย์ในวันเสาร์ อาทิตย์ ดิฉันจำได้ดีถึงการเป็นตัวแทน resident ที่อาจารย์จันทร์ฯ พาไปร่วมประชุม Pediatric Residency Training ของ WHO. และได้พบกับ Dr. Mahler ทำให้รู้ว่าครูทั้งหลาย “ทุ่มเทเวลาและความพยายาม” แค่ไหน ในการสร้างหลักสูตรฝึกให้พวกเราเป็นหมอเด็กที่ดี สำหรับตอบสนองความต้องการของสังคมได้ ดิฉันได้ทำวิจัย ด้านสุขภาพเด็กครั้งแรก เป็น Case Study เกี่ยวกับ Tuberculosis โดยรายงานร่วมกับอาจารย์ฉวีวัณณ์ที่เก๋ที่สุด ที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษคือการนำเสนอผลการวิจัย เกี่ยวกับ Diarrhea ที่อาจารย์วันดีเป็นที่ปรึกษา ใน SEMIO-tropmed ซึ่งเป็น Regional Meeting อาจารย์จันทร์ฯ อาจารย์วันดี และอาจารย์สมศักดิ์ ได้กรุณาให้ดิฉันซ้อม present เป็นภาษาอังกฤษ และแนะนำให้คำปรึกษา แก้ไข ทำให้ดิฉันกล้านำเสนอต่อที่ประชุมนานาชาติ และดิฉันรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณไม่รู้ลืม ดิฉันตั้งใจจะตอบแทนพระคุณของท่าน โดยจะพยายามปฏิบัติตามรอยที่ท่านได้ให้โอกาสแก่ดิฉัน โดยตั้งใจจะส่งเสริมสนับสนุนรุ่นน้องๆ ช่วยแนะนำ และให้กำลังใจอย่างที่ดิฉันเคยได้รับ ในด้านการดูแลเด็กป่วยอย่างครบวงจร คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดและการปรับตัว ตลอดจนการให้ความรู้และความเห็นใจแก่ครอบครัวของเด็กๆ ดิฉันได้เห็นแบบอย่างที่ตราตรึงในความทรงจำจากอาจารย์ภัทรพร ใน Case Hemophilia และ Thalassemia อาจารย์พงษ์จันทร์ ในการดูแลเด็กที่เป็นมะเร็งกับครอบครัว และอาจารย์บุญชอบที่อธิบายให้เด็กรู้เกี่ยวกับหัวใจที่ต้องรับการผ่าตัด และการปฎิบัติตัวก่อนและภายหลังการผ่าตัด ท่านปฏิบัติต่อเด็ก โดยคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ซึ่งดิฉันนำมาประยุกต์ในการทำงานและการสอนในเวลาต่อมา

กับบทบาท “ภรรยาผู้ติดตามสามีนักวิจัย”

นัยพินิจได้รับทุน NORAD ไปทำ Post-doctoral research ที่ University of Oslo, Norway ในปี 2519 ดิฉันสอบวุฒิบัตรกุมารฯได้แล้ว อาจารย์ จันทรนิวัทธ์ กรุณารับให้เป็นแพทย์ผู้ช่วยอาจารย์ general pediatrics และให้ไปทำงานและเรียนรู้จากจิตแพทย์เด็ก เพราะ ดิฉันสนใจด้านพัฒนาการเด็ก

แต่ไม่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขานี้ ซึ่งดิฉันได้รับความกรุณาจาก อาจารย์ศรีธรรม ธนะภูมิที่รามาธิบดี อาจารย์พยอม อิงคตานุวัตกับอาจารย์วาสนา ศรมณีที่จุฬา และอาจารย์วัณเพ็ญ บุญประกอบที่ศิริราชเป็นอย่างดี เมื่อนัยพินิจชวนดิฉันไปด้วย ดิฉันมีความใฝ่ฝันที่อยากเห็นนอร์เวย์มาตั้งแต่อ่านนิยายเรื่อง เต็ลมา (Telma) สมัยเรียนอยู่เซนต์โยเซฟอยู่แล้ว จึงตามเธอไปด้วย เป็นการไปต่างประเทศครั้งแรก ที่ดิฉันต้องปรับตัว 360 องศา ในฐานะภรรยาผู้ติดตามสามีนักวิจัย ช่วงแรกที่อยู่ห้อง guest room ของ Anatomy Institute ของ University of Oslo. Professor Fred Walberg และ Mrs. Lise Walberg มีเมตตานำเอาตะกร้าใส่กะทะสามเหลี่ยมเล็กๆกับตะหลิวไม้ 1 อัน ช้อนส้อม ถ้วยชาม แก้วน้ำอย่างละ 2-3 ชิ้นที่ลวดลายแตกต่างกัน และผ้าเช็ดชาม 1 ผืนมาให้เราใช้แก้ขัด ตอนแรกดิฉันรู้สึกแปลกๆ เพราะคิดว่าถ้าเป็นที่บ้านเราของที่นำมาให้ลูกศิษย์ใหม่คงจะเป็น “Scandia” ชุดสวยงามที่เราเคยเดินดูแถวถนนเกษรที่กรุงเทพ เพราะตนเองเคยซื้อมาใช้ คิดในใจว่ามาถึง Scandinavia แล้วจะซื้อมาใช้ให้สะใจ แต่พอไปดูตามร้านค้าจึงรู้ว่าของแพงสุดหัวใจเลยและมาซาบซึ้งในน้ำใจที่เอื้อเฟื้อของครอบครัว Walberg เมื่อทราบว่าของหลายชิ้นที่นำมาให้ใช้นั้นเป็นของขวัญแต่งงานของท่าน และท่านทั้งสองเอ็นดูเราผู้ยังแปลกที่แปลกเวลามาก เพราะสว่างทั้งวันทั้งคืน แถมยังได้ค่าใช้จ่ายที่พอสำหรับอยู่คนเดียวในประเทศที่ค่าครองชีพแพงที่สุด

ที่ Oslo Professor Walberg กรุณาฝากดิฉันให้ได้มีโอกาสไปพบหัวหน้าแผนกกุมารฯของ medical school ที่ Uleval Sykhus คือ Professor Dr. Svare Halverson ได้ไป round กับเข้า seminar หลายครั้ง และได้ไปดูงานระบบสาธารณสุขรัฐสวัสดิการ ตาม Health Station ที่ทำงานแบบ Primary Care ตามไปดู ANC Parent Education Program รวมทั้ง home visit รวมเวลา 3 เดือน ใน Oslo เป็นช่วงที่ดิฉันกับนัยพินิจมีเวลาอยู่ด้วยกัน ทำงาน และเที่ยวเล่นพักผ่อนมากกว่าช่วงอื่นๆในชีวิต ต่อมาทางภาควิชากุมารฯ โดยอาจารย์จันทรนิวัทธ์ ได้กรุณาเขียนจดหมายไปชวนให้กลับมาเป็นอาจารย์ ดิฉันเลยไม่ได้อยู่เห็น Norway ในช่วงฤดูหนาว นัยพินิจพามา Copenhagen ทางเรือแล้วส่งขึ้นเครื่องบินกลับมาเมืองไทยคนเดียว โดยนัยพินิจใช้เวลาต่อไปอีกประมาณ 18 เดือนที่ Oslo โดยได้ไป-กลับ ระหว่าง BKK-Oslo 2-3 ครั้ง แล้วหลังจากนั้น โครงการแลกเปลี่ยนด้าน Neuroscience กับ Team Oslo, (Professor Fred Walberg, Eric Rinvik , Ole Petter Ottersen และคนอื่นๆ) ต่อมาขยายไป Bergen (Professor Holger Ursin และ Hege Eriksen) มีการร่วมมือทำวิจัยแลกเปลี่ยนครู-นักศึกษา ประชุมวิชาการร่วมกันต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้

อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ ที่กลับเป็นนักศึกษา ทศวรรษที่ 4 (2520 – 2530)

ชีวิตอาจารย์โรงเรียนแพทย์เต็มไปด้วยความท้าทาย มีการเข้ารับการอบรมแพทย์ศาสตร์ศึกษา การสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาแพทย์สนใจเรียน โชคดีที่ภาควิชากุมารฯมีอาจารย์ที่สนใจพัฒนาอาจารย์ใหม่ๆ ให้กำลังใจ feedback สม่ำเสมอ และสนับสนุน ให้มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะ อาจารย์ จันทร์นิวัทธ์ ผู้มองการณ์ไกล ได้ตั้งเรื่องขอทุน กพ. ด้านพัฒนาการเด็ก อาจารย์ภัทรพร แนะนำการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบว่าได้ทำครบถ้วนหรือไม่ ด้วยการจดในสมุดเล่มเล็กๆ การบริหารงานและคน อาจารย์แนะนำให้รู้จักคุณ ดวงใจ ตั้งสง่า หลานของท่านที่ทำงานกับ Holt สหทัยมูลนิธิ แล้วสนับสนุนให้ดิฉันจัดทำโครงการนันทนาการผู้ป่วยเด็ก โดยร่วมกับทาง Holt สหทัยมูลนิธิ ที่ส่งครูมาช่วย และค่อยๆสร้างทีมพยาบาลมาทำงาน ด้านนี้ (Child Life Program) จนในปัจจุบันนี้เป็นโครงการถาวรของภาควิชากุมารฯร่วมกับ การพยาบาลกุมารฯที่ขยายงานจนครบทุก Ward ทำให้ผู้ป่วยเด็กปรับตัวได้ดีขึ้น มีบางช่วงเวลาที่ได้เล่นและมีความสุขได้บ้าง

ชีวิตนักศึกษาทุน กพ. สาขาพัฒนาการเด็ก ณ สหรัฐอเมริกา

ดิฉันได้สอบทุนรัฐบาล (กพ.) เพื่อไปศึกษาต่อ ในสาขาพัฒนาการเด็กในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งในระยะนั้น สงครามเวียดนามเพิ่งยุติลง หมอไทยไปรับการฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกาได้ยากมาก จึงสมัครไปเรียนที่ Harvard School of Public Health ทั้งนี้ท่านอาจารย์อารี ได้กรุณาไปหารือกับ Dr. Joe D. Wray (อดีตอาจารย์ community Medicine ที่รามาธิบดีซึ่งไปสอน International Health อยู่ที่นั่น) Dr. Nevin Scrimshaw ที่สอนอยู่ที่ MIT และ United Nation Univeristy และต่อมา Dr. T. Berry Brazelton ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ หัวหน้า Child Development Unit (CDU), Children Hospital Medical Center of Boston ในขณะนั้น เมื่อดิฉันสอบได้ทุนรัฐบาลไทยจึงสามารถไปเรียนสาขา Maternal and Child Health ที่ Harvard School of Public Health และวิชาที่เกี่ยวกับ Child Development Social Policy ที่ Graduate School of Education และ Inducing Social Change และวิชาบังคับอื่นๆ และเวลาเดียวกันได้มีโอกาสเรียนกับ Dr. Brazelton ทางด้าน Developmental Behavioral Pediatrics และได้เรียน และสอบ Brazelton Neonatal Behavioral Assessment Scale (B.N.B.A.S.) ร่วม round และศึกษาผู้ป่วยต่างๆ

นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ดิฉันติดตามนัยพินิจไป Oslo แล้วเขาส่งดิฉันขึ้นเครื่องบินตามลำพังในปี พศ 2522 ซึ่งเป็น International Year Of The Child พอดี ในเวลาประมาณหนึ่งปีในสหรัฐ ดิฉันมีโอกาสดีที่ได้ทุ่มเทเวลาเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ให้สมกับที่ต้องจากครอบครัวมาเสียไกล ดิฉันพยายามไขว่คว้าหาความรู้ทุกรูปแบบเป็นการเปิดหูเปิดตา ขยายมุมมองจาก Hospital Based Practice และ Bio-medical Model สู่ Community Based Advocacy และเพิ่มมิติด้าน Psycho – Social – Cultural Perspective ได้รู้จักและเรียนร่วมกับเพื่อนจาก 40 กว่าประเทศ รวมทั้ง Dr. Lee Nah Hsu ที่ภายหลังมาเป็น Project Director ด้าน HIV อยู่ที่ UNDP Regional Office และได้ร่วมกับดิฉันจัดการฝึกอบรมระดับภูมิภาคเรื่อง Early Warning Rapid Response System ในปี 2004 และ ได้พบกับนายแพทย์สมอาจ วงค์ขมทอง ที่จบแพทย์มาจากประเทศญี่ปุ่น (ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลที่ศาลายา และปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการของโรงพยาบาลกรุงเทพ)

Dr. T. Berry Brazelton เป็นผู้ที่มีความเมตตาสูง และให้โอกาสดิฉันเรียนรู้ และฝึกปฎิบัติใน Child Development Unit ทั้งๆที่ท่านเป็นคนสำคัญ เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดี ทำรายการ Cable TV “What Every Baby Knows” มีงานวิจัย งานบริการ และงานสอนมากมาย ส่วนดิฉันเป็นเพียง “กะเหรี่ยง” ผู้ไม่ค่อยกล้าแม้แต่จะโทรศัพท์ไปขอนัดพบ และขอโอกาสเรียนในหน่วยของท่าน นอกจากให้มาเรียนใน CDU ท่านอนุญาตให้ Dr. Kevin Nugent สอน Neonatal Behavioral Assessment Scale (NBAS) และหลังจากดิฉันได้ทำการประเมินพฤติกรรมทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลรวม 25 รายแล้ว ก็ให้สอบเป็น NBAS examiner ต่อมาภายหลังได้ผ่านการฝึกอบรมเป็น Trainer และได้ Recertify ในปี คศ 1995 และ 2002 ตามลำดับ NBAS ทำให้ดิฉันทึ่งมากที่เราสามารถสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองของทารกแรกเกิด ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการแนะนำแก่พ่อแม่ได้เป็นอย่างดี

หลังสำเร็จการศึกษามีเวลาก่อนรับปริญญา ดิฉันได้เดินทางไปหา บุปผาและกำธร ที่เมือง Normal รัฐ Illinois และได้ร่วมงานสังสรรค์กับเพื่อนๆแพทย์รามาธิบดีรุ่น 2 ที่ไปทำงาน สหรัฐ (รุ่นของเราจบเป็นแพทย์ 60 คน ทำงานอยู่ในอเมริกา 20 คนอยู่ใน รร. แพทย์ต่างๆ 20 คน และอยู่ในโรงพยาบาลปฐมภูมิประมาณ 20 คน) นัยพินิจไปรับดิฉันที่ Boston วันชาติสหรัฐ 4th of July พอดี วันต่อมาได้ไปเที่ยว Woods Hole และ Cape Cod และยังได้ไปเยี่ยม Professor Prosser ครูของเขาที่ Urbana เรากลับเมืองไทยทางยุโรป ที่อังกฤษ ดิฉันได้เยี่ยมชม Institute of Child Health, London โดย ความกรุณา Professor Kenneth Holt ปรมาจารย์ทาง Child Development อีกท่านหนึ่ง

ปฐมบทวิดีโอ “หมอนิตมาแล้ว”

ต่อมาดิฉันได้มีโอกาสใช้ความรู้ และประสบการณ์ที่รับมาเมื่ออาจารย์อารีชวนให้ไปดูงานที่ท่านทำร่วมกับอาจารย์สาคร และ ดร.สุทธิลักษณ์ เรื่องลูกรัก ที่เปรียบเทียบเด็กชายอายุ 15 เดือน 2 คน แสดงอย่างชัดเจนว่า เด็กที่ขาดอาหารมีพฤติกรรมพัฒนาการที่ล่าช้า หลังจากนั้นดิฉันกับ ดร.พัตธนี ได้ออกไปใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในหมู่บ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อที่จะหาทางปรับปรุงการเลี้ยงดูทารกในชนบทห่างไกล เพื่อจะได้ลดความรุนแรงของภาวะทุพโภชนาการ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพัฒนาการของเด็ก กระบวนการนี้นำมาสู่การจัดทำวิดีโอเรื่อง “หมอนิตมาแล้ว” และดิฉันได้ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบของการใช้สื่อต่อการเลี้ยงดูการให้นมแม่ อาหารเสริมและพัฒนาการของเด็ก ในจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี ซึ่งพบว่าการใช้วิดีโอ ให้ผลดีมากกว่า กลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ใช้แต่สื่อวิทยุอย่างชัดเจนต่อมาทางสถาบันวิจัยโภชนาฯ จึงได้เผยแพร่วิดีโอชุดนี้ไปทั่วประเทศ โดยฉายที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน และได้นำเสนอออกอากาศทางโทรทัศน์อีกด้วย

ชีวิตที่ใช้สติในการแก้ปัญหาฝ่าฟันความเข้าใจผิดของผู้อื่น

ในการทำงานนอกโรงพยาบาลเหล่านี้ บางครั้งสร้างปัญหาให้แก่ดิฉัน หลายครั้งจะมีคำถามที่ต้องตั้งสติดีๆ ก่อนตอบ เช่น ขนาดได้รับคำเชิญจากคณบดีขณะนั้นให้ออกไปทำงานวิจัยที่อุบลราชธานี ซึ่งต้องทำงานตั้งแต่ตี 5 จนหลังเที่ยงคืน เมื่อกลับมาถึงภาควิชากุมารฯ ก็มีผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจในงานนี้ ให้ดิฉันไปทำใบลากิจส่วนตัว สำหรับเวลาที่ใช้ไปในภาคสนามในช่วงที่ทำวิจัยเหล่านั้น เป็นต้น หรืองานดูแลคนไข้งานสอนยังไม่พออีกหรือ จึงไปจัดมุมเล่นกับเด็กอีก เมื่อจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาแพทย์ให้ติดตามดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท โดยมีอาจารย์ผลัดกันไปดูแล และสอนซึ่งทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ โดยลงมือทำและมีความรู้สึกอยากป้องกันและแก้ไขปัญหาการทอดทิ้งเด็ก แต่เมื่อมีการให้ความเห็นจากอาจารย์บางท่าน โครงการนี้ก็เลยถูกยกเลิกไป ด้วยเหตุผลว่าใช้เวลาอาจารย์มากเกินไป (แต่เป็นที่น่ายินดีที่เดี๋ยวนี้เราพยายามจะทำให้คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็น Humanistic, (Humanized) Medicine ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลสุขภาพอย่างรอบด้าน ในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์ จึงต้องมีมิติด้านจิตใจสังคม วัฒนธรรมและการสื่อสารมากขึ้น)

พอดีช่วงนั้นดิฉันทำงานจนครบระยะการชดใช้ทุนรัฐบาล ทั้งยังได้รับการเชิญชวนไปทำที่ รพ.เอกชน ที่จริงดิฉันได้ไปขอใบลาออกมาเขียนแล้ว ครั้นคุยปรึกษากับนัยพินิจ ปาป๊าและหม่าม้า สรุปว่าเราควรได้ใคร่ครวญดูให้ดีก่อน ดิฉันจึงได้คิดว่า ทำไมเราจะต้องยอมแพ้ให้ความเข้าใจผิดของคนอื่น และวาจาที่เสียดแทง หรือการกระทำของใครบางคน มาทำให้เราต้องหันเหไปจากเป้าหมายชีวิตที่ได้ตั้งใจไว้ ดิฉันจึงค่อยๆไปกราบเรียนให้ผู้ใหญ่ทราบว่ากำลังทำอะไร เมื่อวันที่ต้องรีบออกจากห้องตรวจเวลา 11 โมงครึ่ง (เพราะเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาชุมชน มารับให้ไปบรรยายเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนให้กับอธิบดี หัวหน้ากอง และผู้บริหารระดับสูงของกรมการพัฒนาชุมชน ที่มาจากทั่วประเทศ ในเวลาเที่ยงตรงถึงบ่ายโมง โดยหวังว่าจะทำให้ท่านเหล่านั้นพิจารณา จัดทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพ) ดิฉันเลยได้มีโอกาสทำงานอยู่ต่อมาจนเกษียณอายุราชการ

ชีวิตครอบครัวกับลูกชายที่รัก

สิ่งดีที่สุดอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดกับดิฉันคือลูก Nicky ได้เข้ามาสู่ชีวิตของเราในปี พ.ศ. 2524 เราจึงย้ายบ้านไปอยู่ที่ สุขุมวิท 44/1 เพื่อให้ลูกมีบริเวณได้เล่น ดิฉันได้นำเพลง ของใช้ ของเล่น หนังสือภาพที่ซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนอยู่ Boston มาใช้เลี้ยงลูก ลูกจะชอบให้ร้องเพลงกล่อมจนหลับทุกคืน เราโชคดีที่มีพี่เลี้ยงที่เคยทำงานอยู่ที่รามาธิบดี ตามมาดูแลลูก Nicky ระหว่างที่พ่อแม่ไปทำงาน Nicky เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายยิ้มแย้มแจ่มใส และมีพัฒนาการค่อนข้างเร็วกว่าวัย เป็นที่รักของทุกๆคน ทั้งฝ่ายครอบครัวนัยพินิจ และครอบครัวของดิฉัน นับเป็นหลานคนแรกของคุณตา คุณยาย และเป็นเหลนคนแรกของอาม่า เราสามคนพ่อแม่ลูกได้ไปทำบุญกันที่วัดธาตุทองบ่อยๆ ดิฉันได้บันทึกเสียง เมื่อลูกเริ่มหัวเราะพูดคุย และเมื่อดิฉันเล่านิทานให้ลูกฟังพอตอนโตๆมาเปิดฟังด้วยกันก็สนุกดี

มีครั้งหนึ่ง ที่ลูกคลานไปถูกกาน้ำร้อนที่เตรียมไว้ข้างห้องน้ำ ซึ่งปกติลูกจะต้องอยู่ในเตียงที่มีที่กั้นอยู่ ลูกจึงถูกน้ำร้อนลวกที่ขา ดิฉันรู้สึกเสียใจและเจ็บแทนลูกจนต้องร้องไห้ รีบปฐมพยาบาลและพาลูกไปโรงพยาบาลเร็วที่สุด ที่ห้องฉุกเฉินหมอและพยาบาล Scrub แผล ดิฉันก็จะร้องไห้ไปด้วย พร้อมทั้งรู้สึกโทษตัวเองว่าดูแลลูกไม่ดีพอ ขนาดเป็นหมอเด็กเองลูกยังประสบอุบัติเหตุได้ จึงเป็นสิ่งที่เตือนใจให้ดิฉันไม่ประมาทในทุกสถานการณ์ที่เกี่ยวกับลูก และเหตุการณ์นี้ทำให้ดิฉันเกิดความเข้าใจและเห็นใจทั้งเด็กและครอบครัว เวลาประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บ กล่าวคือดิฉันได้มีโอกาสมองจากทั้งสองด้าน ในฐานะแพทย์ และในฐานะแม่ดิฉันและนัยพินิจ เรียนรู้จากลูกมากมาย ลูกมีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน เราพยายามให้โอกาสการพัฒนาอย่างรอบด้านแก่ลูกตามที่เราเรียนรู้มา และลูกก็ตอบสนองอย่างน่ารัก แม้ในช่วงที่เขาท้าทายเราในวัยปฎิเสธ เราก็ช่วยให้เขาเรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง Nicky ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการกินผัก เรื่องการตักข้าวกินเอง การนอนและการขับถ่ายในวัยเด็ก

เมื่อ Nicky อายุประมาณ 4 ขวบ ดิฉันก็เริ่มมีงานที่ต้องจากบ้านไปทำภาคสนามบ้าง คุณน้าเล็กเป็นผู้ที่ช่วยดูแลยามที่ดิฉันไม่อยู่ ซึ่งส่วนมากจะไปภายใน 3-5 วัน หลังจากที่น้องวิสุทธิ์และวัลลีมีลูก และอยู่กับคุณยายด้วย ช่วงสุดสัปดาห์หรือปิดเทอมบางครั้ง Nicky ก็จะไปเที่ยวกับบ้านของวิสุทธิ์ เพื่อสร้างความใกล้ชิดกัน เป็นสิ่งที่ดิฉันตั้งใจให้เกิดขึ้น เพื่อทดแทนการที่ Nicky เป็นลูกคนเดียว ครอบครัวของดิฉัน และน้องๆ มักจะทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอๆ และเราทุกคนตั้งใจที่จะให้ลูกหลานของพวกเราได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันคล้ายกับพวกเราในวัยเด็ก ดิฉันพา Nicky มาที่ศูนย์สุขวิทยาจิต ซึ่งมีโครงการดูแลเด็กกลางวัน เพื่อเราจะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันทั้งขาไปและขากลับ

เมื่อดิฉันมีรายได้พิเศษจากการเขียนหนังสืออ่านประกอบของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องพี่รักน้องจึงได้พาป่าป๊าหม่าม๊า และ Nicky ไปเที่ยวภูเก็ต พังงา และยังมีน้องวิรัช ตามไปด้วย เป็นการขึ้นเครื่องบินครั้งแรกของ Nicky ด้วย ตั้งแต่อายุ 3-4 ปี หลังจากนั้น ดิฉันได้สืบเสาะว่าใกล้กับบ้านมี รร. อนุบาลพิบูลเวศน์เทียบเหมือน รร สาธิต ของ สปช จึงพาลูกไปสมัครเข้า และเรียนจนถึง ป. 6 ด้วยความเมตตาของอาจารย์คุณหญิงเบญจา แสงมะลิ ทำให้ลูกไม่ต้องเดินทางไกลๆ

ต่อมา นัยพินิจย้าย lab และสถานที่ทำงานมาที่วิทยาลัยเขตศาลายา เราจึงตัดสินใจมาอยู่ที่ศาลายา ช่วงนั้น Nicky ใกล้จะจบ ป. 6 แล้ว และก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องหาโรงเรียนที่มีคุณภาพสำหรับลูกดิฉันและนัยพินิจปรึกษาหารือกันมาก ก่อนที่จะนำลูกเข้าไปเรียนที่ รร.ภปร ราชวิทยาลัย โดยหวังว่าการได้อยู่กับเพื่อนและอาจารย์ในระบบราชวิทยาลัย ใน รร. ประจำที่มีคุณภาพ หรือ King’s College จะช่วยให้ลูกได้เติบโตขึ้นอย่างมีระเบียบวินัยสามารถดูแลตัวเองได้ และมีเพื่อนที่สนิทกัน เล่นกีฬาด้วยกัน

ต่อมาในช่วง ม.4-6 ก็พามาเรียนที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพแล้วเด็กมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ เมื่อมองย้อนหลังไป ดิฉันไม่แน่ใจว่าการให้ลูกเรียน โดยไม่ได้สำรวจดูความถนัดของลูกอย่างจริงจัง จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกหรือปล่าว หรือสำหรับเด็ก ม.3 จะขึ้น ม.4 อาจจะเป็นการเร็วเกินไป ที่จะให้เขาเลือกสายวิทย์หรือสายศิลป์โดยเด็ดขาด บางทีการเรียน ให้มีพื้นฐานรวมที่เพิ่มทักษะชีวิต มากกว่าเน้นเนื้อหาสาระวิชาในช่วง ม.3-4 ที่เด็กเข้าวัยรุ่นตอนกลางอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กมากกว่าระบบปัจจุบัน

เมื่อหลังจากจบ ม.6 Nicky ตกอยู่ในภาวะค้นหาตัวตนยังไม่พบอยู่นานพอสมควร ได้ลองเรียนในหลายสาขาวิชาและหลายแห่ง ในฐานะแม่ ดิฉันต้องยอมรับว่ามีความกังวลใจและเป็นห่วงลูกมาก พยายามที่จะทำความเข้าใจกับโจทย์นี้ และหวังว่าด้วยความรักและปรารถนาดีที่เรามีให้กันอย่างเต็มเปี่ยม จะช่วยให้ลูก มีภูมิคุ้มกันและตระหนักคุณค่าของตนเอง ซึ่งในที่สุด Nicky ก็ขอกลับมาเรียนในสาขาวิชาบริหารธุรกิจภาคพิเศษที่รามคำแหง ซึ่งคาดว่าจะจบภายในเดือนตุลาคมปีหน้า

เมื่อผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นวัยอลวลแล้ว Nicky ได้มาขอจะไปบวชเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อทดแทนบุญคุณ ทำให้ดิฉันและนัยพินิจ รู้สึกดีใจที่ลูกรู้จักคิดที่จะพัฒนาตนเอง และญาติมิตรทุกคนก็ดีใจที่มาร่วมงาน ลูกก็หันกลับมาช่วยเหลือดูแลแม่ ประจวบกับเวลาที่ดิฉันมีปัญหาสุขภาพแล้วก็มีปัญหาในด้านการมองเห็นทำให้ขับรถไม่สะดวก Nicky ถือเป็นหน้าที่ขับรถให้ดิฉันไปไหนมาไหน ซึ่งทำให้ดิฉันรู้สึกดีใจ ที่ลูกมีน้ำใจและมีความกตัญญู การที่ Nicky เป็นหลานคนโตก็ได้มีโอกาสดูแลคุณตาคุณยายอยู่เสมอๆ แม้ในวันสุดท้ายของชีวิตคุณตา(อากง) Nicky ก็เป็นคนจูงคุณตากลับไปบ้านหลังรับประทานอาหารที่บ้านของเรา ดิฉันสอนลูกอยู่เสมอว่าเราต้องเคยทำบุญมาด้วยถึงได้มาเป็นพ่อแม่ลูกกัน ขอให้เราทำบุญทำคุณงามความดีร่วมกันต่อไป ดิฉันได้รับบทเรียนที่สำคัญจากการเป็นแม่ ดังที่คาลิล ยิบราล เคยกล่าวว่า “ลูกมาจากพ่อแม่ แต่ไม่ใช่เป็นของพ่อแม่” กล่าวคือ เค้ามีตัวตนมีชีวิตความคิดและวิญญาณของเค้าเอง ดิฉันกับนัยพินิจตั้งใจที่จะให้ความรักปรารถนาดี ช่วยให้ลูกได้เป็นตัวของเขาที่ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถจะให้เป็นได้

งานพัฒนาเด็กไทยและนานาชาติ ที่ทำกับ UNICEF

การทำงานของดิฉันที่เกี่ยวข้องกับ UNICEF เริ่มในช่วงปี 2529 โดยอาจารย์อารี ได้ให้ชื่อของดิฉัน แก่ East Asia Pacific Regional Office EAPRO ที่จัด Bi-regional Staff Meeting ร่วมกับ Regional Office Of South And Central Asia ROSCA ซึ่งเป็นเจ้าภาพ ณ เมือง Katmandu, Nepal ในหัวข้อ Early Childhood Development เป็นครั้งแรกที่ดิฉันต้องบรรยายให้ผู้บริหารระดับสูง ที่มาจาก 40 กว่าประเทศร่วมกับวิทยากรจากประเทศอื่นและผู้แทน UNESCO ดิฉันได้นำวิดีโอ “หมอนิตมาแล้ว” ประกอบคำบรรยายทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การ UNICEF ในภูมิภาคนี้ มีความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพิ่มเติมจากการให้วัคซีนกินน้ำต้ม คนสำคัญที่ได้พบในครั้งนั้น ที่ต่อมาได้ทำงานร่วมกันอีกหลายปี ดร.เลขา ปิยอัจฉริยา ที่รับผิดชอบงาน UNICEF ประจำประเทศไทยด้านเด็กปฐมวัย

ในปีเดียวกันนั้น ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมประชุมวิชาการ International Congress of Pediatrics ที่ Honolulu ได้เข้า work shop ด้าน Developmental Behavioral Pediatrics ที่จัดโดย Dr. Mel Levine ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กสมาธิสั้นและเด็กที่มีปัญหากับการเรียนรู้ Learning Disorder ซึ่งเป็นประโยชน์นำมาใช้ดูแลผู้ป่วยและการเรียนการสอน ที่หน่วยพัฒนาการเด็ก

อาจารย์แพทย์ กับงานพัฒนาเด็กทั้งในและนอกโรงพยาบาล ทศวรรษที่ 5 (2530 – 2540)

หลังจากดิฉันกับ ดร.เลขา พบที่ Katmandu ก็ได้ปรึกษาหารือกัน ก็เกิดเป็นโครงการพัฒนาเด็ก โดยครอบครัว ที่ UNICEF สนับสนุนให้ 12 หน่วยงานร่วมกันพัฒนาเด็กต่อมาอีก 10 ปี รวมทั้งการที่ดิฉันได้ไปร่วมทำงานกับหัวหน้าผู้นำศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดภาคใต้ กับทำโครงการนำร่องใน 16 จังหวัดในพื้นที่ยากจนทำให้หน่วยงานหลักอันได้แก่ กรมอนามัย กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานการปฐมศึกษาแห่งชาติกรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้มาวางแผนและทำงานร่วมกันในการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ ดิฉันได้มีโอกาสนำกุมารแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิกและพยาบาล ออกไปทำงานในพื้นที่ชนบท ร่วมกับอาจารย์เลขา อาจารย์ผ่องพรรณ (เดิมอยู่ที่สปช. ช่วยกันทำหลักสูตรพี่เลี้ยงน้อง) อาจารย์วิศนี (กศน. เกี่ยวกับการศึกษาผู้ใหญ่) คุณสุขจริงจากกรมอนามัย คุณหมอศิริกุล (จากกรมอนามัย ต่อมาเป็นหัวหน้าภาคอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุข และมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน) คุณเดือนเพ็ญ คุณฐิติกัลยาและคุณอภิวัฒน์ จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

ในปี พศ 2531 มีการจัดประชุม Regional Staff Meeting and Training ของ EAPRO และ ROSCA ที่พัทยา ในครั้งนี้ดิฉันได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรหลักและเป็นผู้จัดกำหนดการฝึกอบรมและติดต่อเชิญวิทยากร ดิฉันเชิญ Dr. Brazelton มาเป็นวิทยากรร่วมกันและมีวิทยากรจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเชียมาร่วมด้วย ในครั้งนั้น Dr.Brazelton ได้พบกับรองผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ UNICEF จาก New York หลังจากนั้น Dr. Brazelton และดิฉันได้รับเชิญจาก Mr. James P. Grant ให้ไปบรรยายที่ New York เรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ทารกแรกเกิด ตั้งแต่วัยแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี ดิฉันได้รับเชิญจาก Robert Myers ให้ร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษาของกลุ่ม Consultative Group for Early Childhood Care and Development

ในช่วงทศวรรษนี้ ที่หน่วยพัฒนาการเด็ก มีการจัดการเรียนการสอนทั้งนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านกุมารฯ Elective และที่ OPD กับ Well Baby ทั้ง Developmental Behavioral Clinic เพิ่มเป็น สองครึ่งวัน กับมีการบริการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก Early Intervention และการประเมินด้านจิตวิทยาคลินิค แล้วเราก็เปลี่ยนมามี แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์ Fellow คนแรกคือ นิชรา เรืองดารกานนท์ ที่มาทำงานด้วยกัน 2 ปี ก่อนที่จะได้รับเป็นอาจารย์คนที่สองของหน่วยนี้ โชคดีของดิฉัน ที่นิชราเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงและเอาจริงเอาจังเรียนรู้ได้เร็วจากการทำงานด้วยกันและมีความเป็นอิสระ เราจึงเรียนรู้และทำงานไปด้วยกันอย่างสนุกสนาน ต่อมาได้ส่งเสริมให้ไปรับการอบรมต่อที่ Children Hospital Medical Center of Boston กับ Professor Judy Palfrey, Chief of Ambulatory Pediatrics และ Professor of Pediatrics Harvard Medical School ผู้ที่ต่อมาได้รับเกียรติให้เป็น Brazelton Professorial Chair และเคยรับเชิญมาบรรยายที่กรุงเทพด้วย เมื่อนิชราประสบความสำเร็จทั้งผ่านการอบรม และได้พบคุณสวัสดิ์ที่น่ารักและต่อมาเป็นคู่ชีวิตของเธอ แล้วนิชราก็กลับมาช่วยเป็นกำลังสำคัญของหน่วยพัฒนาการเด็กของภาควิชา ได้รักษาการหัวหน้าหน่วย ต่อมาเป็นหัวหน้าหน่วยและช่วยกันผลักดัน ให้มีอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ (อฝส.) อนุมัติบัตรกุมารเวชศาสตร์ สาขาพัฒนาการเด็กและพฤติกรรม (Developmental-Behavioral Pediatrics) ในเวลาต่อมา

ในปี 2533 องค์การสหประชาชาติได้จัด World Summit for Children สำหรับประเทศไทยที่เตรียมการนี้ อาจารย์ ดร.สายสุรี จุติกุล อดีตเลขาธิการ สยช. และรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ด้านสังคมเป็นประธานในการจัดทำ สพด. (สภาวะความต้องการพื้นฐานของเด็กและเยาวชน) โดยระดมผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันได้เป็นคณะทำงานและต่อมาได้เป็นกรรมการในการจัดทำแผนปฎิบัติการหลักเพื่อปฎิณญาเด็กเพื่อประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายคือการจัดตั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาเด็ก ต่อมาโครงการพัฒนาเด็กโดยครอบครัวและโครงการจัดตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวได้รับการพิจารณาโดยสภาพัฒน์ฯ ให้เป็น 2 ใน 14 โครงการเร่งด่วนในการพัฒนาสังคม ซึ่งได้รับอนุมัติตามมติครม. ในวันที่ 7 มิถุนายน 2537 ในรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคือคุณชวน หลีกภัย บุคคลสำคัญที่เป็นแรงผลักดันกระบวนการก่อตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการเด็กและครอบครัว คืออาจารย์ดร.สายสุรี จุติกุล, ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี และ Professor Brazelton ซึ่งได้มีโอกาสปรึกษาหารือ ถึงความจำเป็นของการก่อตั้งสถาบันดังกล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 โดยมีอาจารย์นัยพินิจและดิฉันร่วมกันร่างโครงการส่งให้ทางมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็ยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการทั้งใน และนอกมหาวิทยาลัยมหิดล จากผู้บริหารในสภาพัฒน์ฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คือ ศาสตราจารย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ เมื่อเกิดโครงการจัดตั้งสถาบันฯขึ้น ภายใต้ สำนักงานอธิการบดี ในปี 2537 ดิฉันจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้ง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์นัยพินิจ ให้ใช้สถานที่ของโครงการวิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม อยู่ 4 – 5 ปี จนย้ายไปยังอาคารสถาบันฯ เมื่อมีนาคม 2542

ดิฉันได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ International Pediatric Association (IPA) โดยผ่าน Prof. John Kennell และ Prof. Robert Haggerty ในการส่งเสริมการฝึกอบรมกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก และการมีส่วนร่วมในสังคม ได้ไปร่วมอภิปรายใน International Congress of Pediatrics ที่อียิปต์ ทำให้มีเครือข่ายกับสถาบันในต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้ง Child Watch International Global Research Network และการจัดทำ VDO เรื่อง Foundation for Human Learning ประกอบการอภิปราย ใน United Nation Education for All ที่จอมเทียน ส่วนในระดับประเทศดิฉันได้ทำ National Health Examination Survey: Early childhood and school age children. ในปี 2539-40 ซึ่งนิชรากลับมาในช่วงนั้นพอดี ได้ช่วยกันทำให้เกิดความตื่นตัว เรื่องพัฒนาการที่ยังไม่น่าพอใจของเด็กไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในชนบทและเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการวิจัยอีกหลายเรื่องตามมา

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ กุมารเวชศาสตร์สาขา Developmental Behavioral Pediatrics (DBP) ของประเทศไทย ทศวรรษที่ 6 (2541 –2550)

ในวันที่ 2 ตุลาคม 2540 ได้มีการประกาศตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการเด็กและครอบครัวในราชกิจจานุเบกษา รศ.วิจิตร ฟุ้งลัดดา ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการผู้อำนวยการ ในเดือนเมษายน พ.ศ.2541 ดิฉันได้รับการสรรหาและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว วิทยาเขตศาลายา เป็นที่น่ายินดีเกินความคาดหมาย ที่ Dr.Brazelton ได้มาในงานทำบุญเปิดอาคารสถาบันฯ และให้เกียรติบรรยายวิชาการประเดิมเป็นครั้งแรกในวันนั้น ยังมีท่านอาจารย์ ศ.นต.ดร. กำจรและอาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ เรียกได้ว่าต้องเคยทำบุณมาด้วยกันมาก่อนและยังได้มาทำบุญด้วยกันอีกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งนี้ดิฉันได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้อำนวยการ 2 วาระ ตั้งแต่ปี 2541 -2545 และ 2545 – 2549 ดังรายละเอียดในบทความเรื่องความเป็นมาและการดำเนินงานของสถาบันฯ ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ดิฉันได้ไปสอนนักศึกษาที่รามาธิบดีและแพทย์ประจำบ้านที่สถาบันฯ และบางครั้งที่รามาธิบดี พร้อมกับนักศึกษาปริญญาโทสาขาพัฒนาการมนุษย์ ที่ดิฉันจัดทำขึ้นและเป็นประธานหลักสูตรตั้งแต่ พ.ศ.2545-2550

งานสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขากุมารเวชศาสตร์ พัฒนาการและพฤติกรรมในประเทศไทย นับตั้งแต่ดิฉันได้เริ่มก่อตั้งหน่วยพัฒนาการเด็ก ใน พ.ศ.2523 เป็นต้นมาได้เริ่มรับแพทย์ประจำบ้านต่อยอดคนแรก คือ อาจารย์นิชรา เรืองดารกานนท์ เป็นคนแรก ปี พ.ศ.2534 และรับฝึกอบรมเพิ่มเติมมาเป็นอันดับ นอกจากนั้นในสถาบันอื่นๆ ก็เริ่มมีการบริการผู้ป่วยและบางแห่งก็มีการจัดการฝึกอบรม เมื่อกลุ่มอาจารย์ที่ทำด้านนี้ได้รวมตัวกัน ได้เสนอต่อราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภาได้พิจารณาหลักสูตรการฝึกอบรมและความจำเป็นที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารแพทย์และพฤติกรรมนี้ จึงเป็นที่น่ายินดีที่แพทยสภาและราชวิทยาลัยฯ ได้อนุมัติให้มีการฝึกอบรมและสอบเพื่อวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์อย่างเป็นทางการ ใน พ.ศ.2547 และมีสถาบันการฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง 7 แห่ง ทั้งนี้คณะอนุกรรมการเพื่อการฝึกอบรมและสอบได้จัดการสอบครั้งแรก เมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา ทำให้มีการผลิตบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับเป็นทางการ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในการพัฒนาเด็กไทยให้มีศักยภาพต่อไป

ชีวิต ณ วันเกษียณอายุราชการ

ดิฉันหวังว่า การท่องเที่ยวบนถนนแห่งความทรงจำ (memory lane) ไปกับดิฉัน คงจะทำให้ท่านมีอะไรบางอย่างติดไม้ติดมือไปบ้าง อย่างน้อยท่านอาจจะได้เกิดความเข้าใจหรือมองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆในช่วงชีวิต 60 ปีของคนคนหนึ่ง ดิฉันเองเต็มเปี่ยมไปด้วย ความซาบซึ้งในพระคุณของท่านทั้งหลาย ที่มีส่วนแต่งแต้มให้ชีวิตมีสีสันและความหมายในต่างกรรมต่างวาระ ทำให้ดิฉันได้มีโอกาสเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ หากจะวิพากษ์ตนเองก็เห็นในจุดอ่อน ที่ไม่แม่นในเรื่องเวลาและระยะทาง จุดเข้มแข็งอาจจะเป็นความใส่ใจในเพื่อนมนุษย์ แม้ดิฉันจะต้องการให้การดูแล พยายามทำให้ “เพื่อนร่วมทาง” มีความสุขพ้นจากความทุกข์โดยใช้สติปัญญาเท่าที่มีอยู่มากเพียงไรก็ตาม ดิฉันก็ตระหนักดีว่า ตนเองมีข้อจำกัดอยู่จึงอาจทำให้บางท่านผิดหวัง เกิดความไม่สะดวกหรือรอนานเกินไปในบางครั้ง ซึ่งจะต้องขออภัยในที่นี้หากดิฉันมีโอกาสเลือกใหม่อีก ดิฉันก็ยังคงเลือกเดินทางแบบนี้ที่มีพ่อแม่พี่น้อง คู่ชีวิต ญาติมิตรและลูกร่วมทางในชีวิต ขณะเดียวกันดิฉันเองได้ถึง “ บางอ้อ” ในบางเรื่องที่สามารถนำมาแบ่งปันได้คือ

– คนที่สำคัญที่สุด คือ ใคร………………………………..คือ ผู้ที่อยู่ต่อหน้า

– ในชีวิตที่แห่งไหนมีความสำคัญที่สุด…………………..คือ ที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้

– เวลาใดสำคัญที่สุดสำหรับตัวเรา………………………..คือ เดี๋ยวนี้

ท้ายนี้ดิฉันขอกราบขอบพระคุณ ขอบคุณและขอบใจในมุทิตาจิตของทุกท่าน และขออาราธนา คุณพระศรีรัตนตรัยและผลแห่งบุญกุศล ได้ดลบันดาลให้ท่านได้พบสิ่งดีงามเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย สามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยกันสร้างสันติสุขต่อๆกันไป

ชีวิตบั้นปลาย

หลังจากเกษียณอายุราชการ อาจารย์นิตยา คชภักดี ยังคงทำงานต่างๆ อย่างหนักมากมายทั้งการเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานในอนุกรรมการต่างๆด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว เป็นวิทยากรสอนบรรยายและรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

จวบจนกระทั่งในช่วงท้ายของชีวิตอาจารย์นิตยาป่วยด้วยโรคหลายๆ โรค ซึ่งมีสาเหตุปัจจัยมาจากทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม รูปแบบการดำรงชีวิตทำงานหนัก และมีเวลาดูแลตัวเองน้อย ช่วงหลังอาจารย์นิตยามีภาวะไตเสื่อม ป่วยเป็นโรคเรื้อรังหลายๆ โรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เมตาบอลิซึมซินโดรม และที่สำคัญที่สุดหมอนิตยาเป็นโรคหืดหอบ จากการเอ็กซเรยปอดทำให้เห็นว่าปอดอาจารย์เริ่มเสื่อมสภาพ และในระยะสุดท้าย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจน และเข้าๆ ออกๆ รักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธเป็นประจำ จนกระทั่ง 2 ปีก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2562 อาจารย์นิตยาเกิดเส้นเลือดแตกในสมอง โดยมีนายแพทย์อนุศักดิ์ เลียงอุดม เป็นผู้ทำการรักษาหลักและผ่าตัดสมอง ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ


คุณหมอผู้ที่ดูแลอาจารย์นิตยา

อาจารย์นิตยาเป็นคนไข้ของ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ซึ่งเป็นเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี จบรามาธิบดี รุ่นที่ 2 ด้วยกันและไปเรียนต่ออายุรแพทย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากจบอายุรแพทย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กลับมาเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด เวชศาสตร์วิกฤติ หรือ Critical Care หมอมนูญเป็นหมอที่ดูแลแบบบูรณาการอาจารย์นิตยามามากกว่า 20 ปี และดูแลอาจารย์นิตยาจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ส่วนอีกท่านที่อยู่ฝั่งทางด้านขวาของรูปเป็นพลเอกนายแพทย์สุทธชาติ พีชผล คุณหมอหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและเป็นอายุรแพทย์อีกท่านที่ดูแลเรื่อง โรคไตของอาจารย์นิตยา


พิธีสวดพระอภิธรรม วันที่ 4-6 มีนาคม 2564 ณ วัดมกุฏกษัตริย์ติยาราม

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.16 นาที อาจารย์นิตยาจากไปอย่างสงบ สาเหตุของการเสียชีวิตด้วยการล้มเหลวของระบบทางเดินหายใจ มีพิธีรดน้ำศพ วันที่ 2 มีนาคม 2564 ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และอาจารย์นิตยาได้บริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่สอนนักเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริอายุรวม 73 ปี 3 เดือน

การศึกษา

ตำแหน่งหน้าที่การงาน

ประสบการณ์ทำงาน

  1. แพทย์ผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พ ศ 2521 – 2548 และสอนนักศึกษาแพทย์
  2. ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้ง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ และสอนนํกศึกษาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2538 -2540
  3. ผู้อำนวยการ (ผู้ก่อตั้ง) สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิด (วาระที่ 1 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541-2545) และ (วาระที่ 2 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 – 2549)
  4. ประธานผู้ก่อตั้ง จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมสาขากุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและ พฤติกรรม ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันเป็น คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบผู้เชี่ยวชาญอนุสาขากุมารเวชศาสตร์ พัฒนาการและพฤติกรรม Developmental Behavioral Pediatric ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย 2546-2556 ในปัจจุบันมีกุมารแพทย์ผู้ได้รับวุฒิบัตร หรือ อนุมัติบัตรสาขานี้ ประมาณ 150 คน
  5. ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็น “ปูชนียจารย์” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนาม และ 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล
  6. ในการก่อตั้งหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นั้นได้ตั้งผลการเรียนรู้ให้นักศึกษานอกจากได้รับความรู้ทางวิชาการแล้วยังวางรากฐานมุ่งเน้นให้นักศึกษามีทักษะด้านอื่นๆที่สำคัญเช่น มีคุณธรรม จริยธรรม, มีจรรยาบรรณวิชาชีพพัฒนาการมนุษย์โดยใช้คุณธรรมและจริยธรรม, มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น, สามารถบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ในการพัฒนาส่งเสริม ป้องกันแก้ไขปัญหาด้านพัฒนาการของบุคคลตลอดช่วงวัยในบริบทครอบครัว และชุมชนได้, สร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานวิชาการและวิจัยการพัฒนาเด็กสู่สังคม, มีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการทำงานในองค์กรชุมชนและสังคมที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการมนุษย์
  7. บรรยายพิเศษการพัฒนาเด็กและครอบครัวให้แก่บุคลากรด้านการแพทย์ สาธารณสุข ด้านการศึกษา พัฒนาสังคม ฯลฯ
  8. การเผยแพร่ความรู้การพัฒนาเด็กและครอบครัวผ่านสื่อมวลชน และเป็นที่ปรึกษากรมอนามัย ด้านอนามัยแม่และเด็ก
  9. ร่วมเป็นกรรมการจัดทำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็ก สตรี และครอบครัว/li>
  10. ที่ปรึกษา และวิทยากรในการอบรมเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสมองเด็กปฐมวัยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากระบี่ ตรัง
  11. ประธานและกรรมการจัดการประชุมระดับชาติและนานาชาติได้แก่ ASEAN ECCD, Child Watch International Key Institute Meeting Asian Pediatric Congress, TSBM, 9th ICBM 2006, 2nd WASM 2007, International Developmental Behavioural Pediatrics 2005, BBSM 2007 เป็นต้น
  12. กรรมการราชวิทยาลัย สมาคมกุมารแพทย์ และนายกสมาคมศิษย์เก่า แพทย์รามาธิบดี
  13. ร่วมพัฒนาคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย Developmental Surveillance & Promotion Manual (DSPM) ตามโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
  14. ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัย
  15. ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำ ร่าง มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำของการเลี้ยงดู และการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย และโรงเรียนอนุบาล
  16. ประธานคณะทำงานจัดทำมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง
  17. ที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำคู่มือมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เสนอสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดทำโดยมูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก (ม.ส.ป.ด.)

ตำแหน่งหน้าที่

  1. ข้าราชการบำนาญ อาจารย์พิเศษผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำหลักสูตรปริญญาโท สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
  2. กุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์วิชัยยุทธ
  3. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
  4. กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการ
  5. ประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอนุสาขา พัฒนาการและพฤติกรรม ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  6. ที่ปรึกษา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

nittaya

เหรียญบำเหน็จในราชการ

ผลงาน

ด้านการวิจัย ด้านพัฒนาการเด็ก และครอบครัวพฤติกรรมทารกแรกเกิด

วิจัยเกี่ยวการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน ในการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ พัฒนาการเด็ก, การพัฒนาตัวชี้วัดและระบบฐานข้อมูลความอยู่ดีมีสุข ด้านชีวิตครอบครัวสำหรับประเทศไทย, การจัดทำมาตรฐานการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในหน่วยงานภาครัฐและมาตรฐานครอบครัวเข้มแข็ง

ผลงานวิจัย วิชาการ และตีพิมพ์

Textbooks Several books, chapters in textbooks, manuals and monographs on child development, child health and family in both Thai and English, including

  1. Kasemsant C and Kotchabhakdi NJ: The clinical approach to the pediatric patient. In Kasemsant C and Pongpanich B (eds) Textbook of Pediatrics. Bangkok: Siriraj Textbook Project, Mahidol University.1st edition 1979 Vol1:24-29 , (in Thai)
  2. Kotchabhakdi NJ: Concepts of child development. In Suvannathat C, Bhanthumnavin D, Bhuapirom L and Keats D.M. (eds) Handbook of Asian Child Development and Child Rearing Practices Bangkok : Behavioral Science Research Institute, Srinakharinwirot University, Prasanmitr, 1985, 57-80.
  3. Kotchabhakdi NJ: Nutritional needs of the child. In Suvannathat C: Bhanthumnavin D; Development and Child Rearing Practices. Bangkok: Behavioral Science Research Institute, Srinakarinwirot University Prasanmitr, 1985, 81-98.
  4. Kotchabhakdi NJ: Child health and learning. In the committee on child health (eds) Child Health. Bangkok : Sukothai Thamathiraj University Press, 1985, 839-908 (in Thai)
  5. Anadalakshmy s, Corpuz A, Kotchabhakdi NJ, Pelle Y, Ratnaike J and Sylva K. Approaches to Programming for Early Childhood Development. Bangkok : UNICEF EAPRRO. 1985.
  6. Kotchabhakdi, Nittaya J. CUIDADOS DA SAUDE PRIMARIOS – EDUCACAO E CULTURA. NOVAS SOLUCOES PARA O SEC. XXI , FUNDACAO CALOUSTE GULBENKIAN, SERVICO DE EDUCACAO, BEBE XXI CRIANCA E FAMILIA NA VIARGEM DO SECULO, FUNDACAO CALOUSTE GULBENKIAN, Av. de Berna l Liaboa 1995. (in Portugese).
  7. Kotchabhakdi NJ et al (eds) Trainer’s Manual: Family Development Project. Community Development Department Ministry of Interior and National Institute for Child and Family Development, Mahidol University. Bangkok: Bangkok Block ,1996 (in Thai)
  8. Kotchabhakdi NJ et al (eds) Village Family Development Volunteer’s Manual: Family Development Project. Community Development Department Ministry of Interior and National Institute for Child and FamilyDevelopment, Mahidol University. Bangkok: Bangkok Block,1996 (in Thai)
  9. Kotchabhakdi NJ Health status and health problems in Thai children and youth. (in Thai ) in Varavithya W, Siribunya P and Chiamchanya S (eds) Textbook of Pediatrics 2nd Edition. Bangkok: Holistic Publishing,1997 Vol 1: 19-29
  10. Kasemsant C and Kotchabhakdi NJ: The clinical approach to the pediatric patient. In Kasemsant C and Pongpanich B (eds) Textbook of Pediatrics, (in Thai), Bangkok : Siriraj Textbook Project, Mahidol University. 1st edition 1979, 2nd edition 1997
  11. Kotchabhakdi NJ Child development and developmental disability (in Thai ) in Varavithya W, Siribunya P and Chiamchanya S (eds) Textbook of Pediatrics 2nd Edition. Bangkok: Holistic Publishing,1998 Vol 3: 1-53
  12. Kotchabhakdi NJ Child Rights: Implications for Pediatric Practice. In Ruengkanchanasetr S. et al (eds) Ambulatory Pediatrics 2. Bangkok: Dept.Pediatrics, Ramathibodi Hospital, 1999. 12-15 (in Thai)
  13. Kotchabhakdi NJ Family Focused Care. In Ruengkanchanasetr S. et al (eds) Ambulatory Pediatrics 2. Bangkok: Dept.Pediatrics, Ramathibodi Hospital,1999:16-19 (in Thai)
  14. Kotchabhakdi NJ Developmental Assessment. In Ruengkanchanasetr S. et al (eds) Ambulatory Pediatrics 2. Bangkok: Dept.Pediatrics, Ramathibodi Hospital, 1999. 61-70 (in Thai)
  15. Kotchabhakdi NJ and Ruengkanchanasetr S. Child Health Supervision 2000. In Ruengkanchanasetr S. et al (eds) Ambulatory Pediatrics 2. Bangkok: Dept. Pediatrics, Ramathibodi Hospital, 1999. 43-60 (in Thai)

Original Articles and Abstracts

  1. Kotchabhakdi NJ, Varavithya W, Lolekha S, Ratanabanagkoon K, and Jayanetra P : Diarrhoea in Pediatric Patients. In Reynolds DC. (ed). Proceedings of the 15th SEAMEO-TROPMED SEMINAR : Tropical Pediatrics : Problems in Southeast asia. Bangkok : SEAMEO-TROPMED PROJECT, 1976.
  2. Kotchabhakdi NJ Varavithya W, Lolekha S, Ratanbangkook K, and Jayanetra P. Diarrhoea 1976. J. Ped. Soc. Thailand 1978 : 14; 1-9 (in Thai).
  3. Kotchabhakdi NJ and Junnanonda C. Probable congenital tuberculosis : A case successfully treated with Rifampicin J. Med. Ass. Thai. 1978, 61-8.
  4. Tanphaichitr, P, Mekanandha V and Kotchabhakdi NJ A case of Rubinstein Taybi Syndrome associated with nephrotic syndrome J.Med. Ass. Thai. 1979, 62 : 1 43-45.
  5. Kotchabhakdi NJ, Pipatveravat S, Tapanya P, Kotchabhakdi N and Pornpathkul S, Improvement of intelligence, learning ability and moral judgement through the practice of Transcendental Meditation technique. In Sukontasarp P, Yongsiri Ng, Intasuwan P, Jotiban N and Suvannathat C (eds) Proceedings of Second Asian Workshop on Child and Adolescent Development Bangkok : Burapasilpa Press, 1982; 92-104.
  6. Dhanamitta S, Winichagoon P, Kotchabhakdi NJ, Smitasiri S and Valyasevi A A communications for behavioral change: radio VS video van. In Tanphaichitra V, Dahlan W, Suphakarn V and Valyasevi A (eds) Human Nutrition: Better Nutrition : Better Life Proceedings of the Fourth Asian Congress of Nutrition Bangkok: Aksornsmai Press 1984; 124-128.
  7. Kotchabhakdi NJ, Winichagoon P, Smitasiri S, Dhanamitta S and Valyasevi A “The Integration of Psychosocial Components in Nutrition Education in Northeastern Thai Villages” Asia-Pacific J. of Public Health 1987; 2 : 16-25.
  8. Khanjanasthiti P, Junnanond C, Wathanakasetr S, Kotchabhakdi N, and Srivatanakul K. Adolescent growth. J Med. Ass Thai. 70 No. 4 1987; 4 : 187-97.
  9. Hathirat P and Kotchabhakdi NJ. “Iron Deficiency and Cognitive Function” in Proceeding of Fifth Asian Congress of Nutrition edited by Department of Nutrition and Physiological Chemistry. Osaka University Medical School. Osaka, Japan : 1987.
  10. Pollitt E, Hathirat P, Kotchabhakdi NJ, Missell L, and Valyasevi A. Iron deficiency and educational achievement in Thailand. Am J Clin Nutr 1989; 5 : 50 : 687-97.
  11. Ruangdarakanon N, Kotchabhakdi N, Mekanandha V. Double Aneuploidy: 46, X, +21 a Combination of Down syndrome and Turner syndrome J. Med Assoc Thai 1993; 76 suppl 2:215-7
  12. Kotchabhakdi, Nittaya J. Mother and Child Health in Thailand and the collaboration with Japan. . Mother and Child Well-being Around the World Vol 38/1995:18-24. (in Japanese Translation)
  13. Kotchabhakdi, Nittaya J. Child Development Curriculum: Spreading the Teaching to Pediatricians. Abstract of the symposium on Pediatric Education in XXI International Congress of Pediatrics Cairo. Egypt, 1995.
  14. Kotchabhakdi, Nittaya J. CUIDADOS DA SAUDE PRIMARIOS – EDUCACAO E CULTURA. NOVAS SOLUCOES PARA O SEC. XXI , FUNDACAO CALOUSTE GULBENKIAN, SERVICO DE EDUCACAO, BEBE XXI CRIANCA E FAMILIA NA VIARGEM DO SECULO, FUNDACAO CALOUSTE GULBENKIAN Av. de Berna l Liaboa 1995.
  15. Kotchabhakdi, Nittaya J. Holistic Paradigm: Health, Nutrition and Early Childhood Development in An Ecological Context. Regional Conference Towards Excellence in Early Childhood Education: Policies and Practices in the 21st Century. Kuala Lumpur Malaysia, 1996.
  16. Kotchabhakdi, Nittaya J. Neonatal Behavioral Assessment Scale in Clinical Practice. Synopsis of a symposium in the 9th Asian Congress of Pediatrics, Hongkong, March, 1997.
  17. Kotchabhakdi, Nittaya J. Mother-Infant Interaction and attachment: Implication for Pediatric Nursing. Synopsis of the symposium on Mother- Infants Interaction and Attachment for Optimal Outcomes in the First Pediatric Nursing Conference, Bangkok, Thailand. April 1997.
  18. Kotchabhakdi, Nittaya J. Mother-Infant Interaction and attachment: Implication for Pediatric Nursing. Synopsis of the symposium on Mother- Infants Interaction and Attachment for Optimal Outcomes in the First Pediatric Nursing Conference, Bangkok, Thailand. April 1997. 18. Kotchabhakdi, Nittaya J. Enhancement of Mother- Infant Interaction: Clinical Application for Pediatricians. Synopsis for the symposium on Mother- Infants Interaction and Attachment for Optimal Outcomes. The Annual Scientific Meeting of the Pediatric Society of Thailand and the Royal College of Pediatricians of Thailand, Phuket, April, 1997.
  19. Kotchabhakdi, Nittaya J. Bio-Psycho-Social Aspects of Early Childhood Development. In the Regional ECD Institute on Young Children, Family and the Community: An Integrated Approach to Early Childhood Care and Development. Organized jointly by Unicef EAPRO, RTRC, Consultative Group on ECCD, University of Victoria , Canada and National Institute for Child and Family Development Thailand, Mahidol University. Singapore, November, 1997.
  20. Kotchabhakdi, Nittaya J. Impact of Community Based Program on Early Childhood Development. Abstract, the XXII International Congress of Pediatrics, Amsterdam, The Netherland, August 1998.
  21. Ruangdaraganon N, Kotchabhakdi N, Mekanandha V. Double Aneuploidy: 46, X, +21 a Combination of Down syndrome and Turner syndrome. J. Med Assoc Thai 1993; 76 suppl 2:215-7
  22. Ruangdaraganon N, Tocharoentanaphol C, Kotchabhakdi N, Khowsathit P. Williams syndrome and the elastin gene in Thai patients. J Med Assoc Thai 1999; 82 (Suppl 1) : 174-8.
  23. Ruangdaraganon N, Limprasert P, Sura T, Sombuntham T, Sriwongpanich N, Kotchabhakdi N. Prevalence and clinical characteristics of fragile X syndrome at child development clinic, Ramathibodi Hospital. J Med Assoc Thai 2000; 83, 69-76.
  24. Kotchabhakdi NJ Children’s Rights Around the World. Abstract. des Assises Internationales du Bebe. 2-5 June. 1999. Marseille, France
  25. Kotchabhakdi NJ Community Development Approach for Early Childhood Care in Thailand. Abstract and Panel Discussion at the International Conference on Early Childhood Care for Survival, Growth and Development, New Delhi, India. October 2000
  26. Kotchabhakdi NJ Sleep in children: What are the concerns? Abstract and presentation at the 3rd Asian Sleep Research Conference, Bangkok, Thailand, December 2000
  27. Kotchabhakdi NJ, Chainorit N, Jivasomboonkul J, Laosuwannapong O, Plengsa-ard A Kotchabhakdi N. Characteristics of sleep in children: A community based study in Salaya, Nakhon Pathom, Thailand Abstract and presentation at the 3rd Asian Sleep Research Conference, Bangkok, Thailand, December 2000
  28. Kotchabhakdi NJ, Jivasomboonkul J, Rodpairin M, and Kotchabhakdi N. Sleep Latency and Duration in Young Children Listening to Classical Music Abstract and poster presentation at the 3rd Asian Sleep Research Conference, Bangkok, Thailand, December 2000
  29. Kotchabhakdi NJ Behavioural aspect of health in children and adolescents. Abstract and presentation at the 1st International Conference on Behavioural Medicine. Bangkok, Thailand. April-May 2001
  30. Ruangdaraganon N, Kotchabhakdi N, Udomsubpayakul U, Kunanusont C, Suriyawongpaisal P. The Association between Television Viewing and Childhood Obesity: A National Survey in Thailand. J Med Assoc Thai 2002; 85 suppl 4: 1075-80.
  31. Hansakunachai T, Ruangdaraganon N, Udomsubpayakul U, Sombuntham T, Kotchabhakdi N. Epidemiology of enuresis among school-age children in Thailand. J Dev Beh Pediatric 2005; 26: 356-60.
  32. นพวรรณ ศรีวงศ์พานิช, สุธีรา รัตนาโภ, นิชรา เรืองดารกานนท์, นิตยา คชภักดี. การประเมินระดับพัฒนาการเด็ก น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยมากโดยมารดาเปรียบเทียบกับการใช้แบบประเมินคัดกรองมาตรฐาน. วารสารกุมารเวชศาสตร์ 2542; 38: 255-62.

Consultant, Resource Person and Organization of Scientific Conferences.

  1. Resource person for the training session on Early Childhood Development at the UNICEF 1986 Interregional Staff Meeting in Asia (ROSCA-EAPRO) Katmandu, Nepal. February 23-28, 1986.
  2. Resource person for IDRC/UNICEF/UNESCO Regional Workshop on “Learning Environments of Early Childhood: Regional Office for Education in Asia and the Pacific, Bangkok, Thailand. December1-5, 1986.
  3. Secretary General of the organizing committee and resource person. in the Pediatric Round Table on the Implementation of Early Childhood Development in Thailand. Cohosted by the Pediatric Society of Thailand and the Johnson and Johnson Baby Product Company. May 20-26,1988 at Rose Garden Nakorn Pathom and Bangkok Thailand.
  4. Co-coordinator and resource person for the training session on “Pregnancy, motherhood and Newborn” at the UNICEF 1988 Interregional Staff Meeting in Asia (EAPRO-ROSCA), Cholburi, Thailand , May 30 – June 2, 1988.
  5. Resource person for the first National Health Assembly on “Promotion of Child Health and development in Thailand” organized by the Ministry of Public Health, Royal Thai Government. September 12-15,1988./li>
  6. Consultant in the Integrated Well Child Care project of the Family Health Division, Ministry of Public Health, RTG 1988-1993
  7. Consultant for organization and resource person for Asia regional staff training session, Redd Barna (Save the Children Norway) on Asian seminar : Child Development in Rural Area, Katmandu, Nepal, February 15-18, 1989.
  8. Resource person in the UNICEF global seminar on Early Childhood Development at the International Child Development Center, Innocenti, Florence, Italy, June 12-16, 1989.
  9. Consultant and reviewer in the 1st Thai edition of “Facts for Life”, Ministry of Education RGT 1989-1990. Co-chairperson of the revision committee for the 2nd edition in 1996.
  10. Resource person and panelist in “Learning for All : Bridging Domestic and International Education “ US coalition for Education for All, Washington DC, USA 1991.
  11. Resource person and technical consultant of the Asian regional staff training workshop on Early Childhood Development for Christian Children’s Fund, Chiengmai ,Thailand 1992.
  12. Chairperson of the Organizing Committee IPA / WHO / Unicef Pre-Congress Workshop “Community Based Child Development Program” organized by The Royal College of Pediatricians of Thailand, The Pediatric Society of Thailand and National Institute for Child and Family Development, Mahidol University. Nakhon Pathom, Thailand October,1997
  13. Resource person NEONATAL BEHAVIORAL ASSESSMENT SCALE Training Workshop Manila, The Society of Pediatricians, Philippines, July 14-16, 1998
  14. Regional Experts Meeting on Developmental Assessment in Early Childhood Care and Development. Manila at the UNICEF-Manila Office, 21-24 September 1998, Manila, Philippines.

Thesis งานวิทยานิพนธ์นักศึกษา

  1. เป็นที่ปรึกษาหลักและที่ปรึกษาร่วมนักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาพัฒนาการมนุษย์ จำนวน 12 เรื่อง
  2. เป็นที่ปรึกษาหลักและที่ปรึกษาร่วมของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในหลักสูตรอื่นๆ จำนวน 9 เรื่อง

ผลงานด้านการสอน

สื่อการเรียนการสอน
  1. วีดีโอ : เรื่อง “หมอนิดมาแล้ว”
  2. วีดีโอ : เรื่อง “Foundation of Human Learning” (ภาษาไทย และ อังกฤษ)

ซีดีรอม
  1. ซีดีรอมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยโดยครอบครัวและชุมชน
  2. ซีดีรอมการพัฒนาดัชนีความอยู่ดีมีสุขด้านชีวิตครอบครัวสำหรับประเทศไทย
  3. ซีดีรอม Second Regional Seminar for the ASEAN Project on Early Childhood Care and Development

หนังสือ
  1. ขั้นตอนการพัฒนาของเด็กปฐมวัยตั้งแต่ปฎิสนธิถึง 5 ปี, สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2543
  2. หนังสือความรู้เพื่อชีวิต: สาระสำคัญเพื่อการปฏิบัติ (ฉบับภาษาไทย) ปรับปรุงครั้งที่ 3 พ.ศ. 2548

ตำราและเอกสารประกอบการสอน
  1. การเติบโตและพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น (เอกสารประกอบการสอนนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ชั้นปีที่ 3
  2. Psychosocial Aspects and Behavioral Dimension of Health and Diseases (เอกสารประกอบการสอนนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ชั้นปีที่ 4)
  3. Child Health Supervision (เอกสารประกอบการสอนนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ชั้นปีที่ 5
  4. นิตยา คชภักดี (2545) Family Participation in Pediatric Intensive Care Unit ในหนังสือเวชบำบัดวิกฤติในเด็ก ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 2 บรรณาธิการ สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ และคณะ
  5. นิตยา คชภักดี (2541) การฝึกกระตุ้นพัฒนาการเด็กในช่วงต้นของชีวิต ในตำรากุมารเวชศาสตร์ (ฉบับเรียบเรียงใหม่ เล่ม 3) บรรณาธิการ วันดี วราวิทย์ และคณะ
  6. นิตยา คชภักดี (2542) Child Rights: Implications for Pediatric Practice ในหนังสือ Ambulatory Pediatrics 2 บรรณาธิการ สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ และคณะ
  7. นิตยา คชภักดี (2542) Family Focused Care ในหนังสือ Ambulatory Pediatrics 2บรรณาธิการ สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ และคณะ
  8. นิตยา คชภักดี (2542) Developmental Assessment ในหนังสือ Ambulatory Pediatrics 2 บรรณาธิการ สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ และคณะ
  9. นิตยา คชภักดี (2542) Children and Divorce ในหนังสือ Ambulatory Pediatrics 2 บรรณาธิการ สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ และคณะ

ผลงานดีเด่นในสาขาวิชาของตน

  1. เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเป็นอาจารย์แพทย์สอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์ กุมารแพทย์
  2. เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นประธานหลักสูตร เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. เป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นประธานหลักสูตร รวมทั้งสอนและเป็นปรึกษานักศึกษาในการทำวิทยานิพนธ์
  4. ก่อตั้งหลักสูตร และให้การฝึกอบรมสาขากุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

ผลงานดีเด่นอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

  1. รางวัลเกียรติคุณผู้ทำประโยชน์แก่เด็กและเยาวชน คณะกรรมการส่งเสริมประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2535
  2. รางวัลเกียรติคุณผู้ทำประโยชน์แก่แม่และเด็ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  3. รางวัลกุมารแพทย์ อาวุโสดีเด่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2554
  4. รางวัลมูลนิธิ ฝน แสงสิงแก้ว ผู้ปฏิบัติต่องานสุขภาพจิตดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559
  5. องค์ปาฐก ปาฐกถา ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รจิต บุรี สมาคมศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี พ.ศ. 2536
  6. องค์ปาฐก ปาฐกถา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง มรว. จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ พ.ศ. 2560
  7. องค์ปาฐก ปาฐกกา แพทย์หญิง เพทาย แม้นสุวรรณ พ.ศ. 2560
  8. ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็น “ปูชนียจารย์” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนาม และ 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล