หอประวัติสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
ประวัติความเป็นมา
ในการก่อตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
การก่อตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สืบเนื่องมาจากการประชุมสุดยอดเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (World Summit for Children) เมื่อเดือนกันยายน 2533 ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ให้การรับรองและประกาศปฏิญญาระดับโลกว่าด้วยความอยู่รอดของเด็ก การปกป้องเด็กและการพัฒนาเด็ก รวมทั้งแผนปฏิบัติการเพื่ออนุวัตรปฏิญญาระดับโลกฯ ดังกล่าว สำหรับทศวรรษ 1990 ทั้งนี้ รัฐบาลไทย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ลงนามรับรองปฏิญญาระดับโลกฯ นี้ เป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2534
นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการหลักของปฏิญญาเพื่อเด็ก สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสถาบันวิชาการระดับชาติเพื่อพัฒนาเด็กให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสนองนโยบายการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ ในแผนปฏิบัติการพัฒนาการศึกษาอบรมเลี้ยงดูเด็กและวัยรุ่น และให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแกนจัดตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาวิชาการเรื่องเด็กและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม เพื่อเพิ่มพลังแก่ครอบครัว ในสังคมไทย โดยจัดการศึกษาวิจัยพัฒนาและผลิตบุคลากรระดับต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ ของเด็กและครอบครัว ครอบคลุมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่เหมาะสมกับบริบท ของสังคมวัฒนธรรมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก
แผนปฏิบัติการหลักของปฏิญญาเพื่อเด็กไทย
มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวมาเป็นลำดับ โดยเริ่มจาก การแต่งตั้ง คณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (คำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 2530/2536 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2536) และแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาเด็ก และครอบครัวเพิ่มเติม (คำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 2900/2536 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2536) เพื่อทำหน้าที่ ดังนี้
1. จัดทำแผนพัฒนาเด็กและครอบครัวที่เป็นภาพรวม
2. ตอบสนองนโยบายพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
3. เป็นแกนของคณะกรรมการโครงการจัดตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมกับบุคลากรอื่นๆ ที่จำเป็นทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
4. จัดทำแผนปฏิบัติงานและการติดตามกำกับการดำเนินงานเป็นขั้นตอนเพื่อให้ปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาและพัฒนาศักยภาพของเด็กและครอบครัวไทย